น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในเดือน ส.ค.ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เพราะประชาชนยังมีกำลังซื้ออ่อนแอ กิจกรรมเศรษฐกิจยังไม่กลับมา จากการมีมาตรการล็อกดาวน์ จำกัดกิจการร้านอาหาร และได้รับผลกระทบโควิดต่างประเทศกลับมารุนแรง การขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) รวมทั้งโควิดลามสู่โรงงานกระทบภาคการผลิต ซึ่งยังเป็นปัจจัยติดตาม โดย ธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในวันที่ 29 ก.ย.64 เพื่อมาประเมินผลกระทบว่าเป็นอย่างไร จากเดิมคาดจีดีพีปี 64 ไว้ขยายตัว 0.7%

นอกจากนี้ ธปท.ได้พูดคุยกับผู้ประกอบธุรกิจ พบว่าเดือน ส.ค.สถานการณ์บางภาคการผลิต การค้าและบริการยังได้รับผลกระทบ แม้การส่งออกขยายตัว แต่เริ่มขาดแคลนปัจจัยการผลิต ขณะที่การจ้างงานปรับตัวได้ ไม่ได้ลดลงมาก ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งรายเล็กรายใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะคนจับจ่ายซื้อสินค้าในปริมาณลดลง ความต้องการใช้จ่ายลดลง เกิดจากความเชื่อมั่น มาตรการรัฐคุมการระบาด และผู้บริโภคเปลี่ยนมาซื้อสินค้าทางออนไลน์ในขณะที่บางผู้ประกอบการยังปรับตัวไม่ทัน ทำให้ยอดขายผู้ประกอบการลดต่ำลง รวมทั้งการขนส่งสินค้าติดขัดมีปัญหา เพราะการเดินทางเข้าพื้นที่สีแดงเข้มทำให้ขนส่งล่าช้า

ด้านสำนักวิจัยกรุงศรี ระบุ ได้ทำแบบจำลองเห็นถึงความรุนแรงของโควิด-19 ที่มากกว่าคาด แม้บางกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่สีแดงเข้มจะเริ่มกลับมาดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. แต่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เลวร้ายกว่าคาดจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้มีการล็อกดาวน์เข้มงวดนานขึ้นและขยายวงกว้างพื้นที่สีแดงเข้ม และยังลุกลามไปยังกลุ่มโรงงาน ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะกระทบต่อจีดีพีรวม -2.9% ซึ่งในการประมาณการครั้งก่อนเมื่อกลางเดือนก.ค. ได้ประเมินผลดังกล่าวไว้แล้ว -2.0%

ดังนั้น ผลกระทบเชิงลบที่เพิ่มเติมจากการระบาดของโควิด-19 ต่อจีดีพีปี 64 ในประมาณการครั้งล่าสุดคือ -0.9% สำหรับผลเชิงบวก คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการเพิ่มเติมในปีนี้อีกราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยหนุนจีดีพีได้ +0.3% ผลกระทบสุทธิต่อการเติบโตของจีดีพีในปีนี้โดยรวมแล้วจึงคาดว่าจะลดลงจากคาดการณ์เดิม -0.6% วิจัยกรุงศรีจึงปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปีนี้เติบโตเหลือ 0.6% จากเดิมคาด 1.2%

ในระยะข้างหน้า การส่งออกของสินค้าไทยยังคงได้แรงสนับสนุนจากหลายปัจจัย ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยเพิ่มขึ้น การกลับมาดำเนินการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว การผ่อนคลายลงของภาวะขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ และการอ่อนค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศมีเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงและแพร่เข้าสู่ภาคการผลิต ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการปิดชั่วคราวในบางโรงงาน ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกบางสาขา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน

แม้แรงส่งจากปัจจัยภายนอกแข็งแกร่งและสัญญาณเชิงบวกจากตัวเลขส่งออกล่าสุดที่ยังเติบโตมากกว่าคาด แต่ปัจจัยลบภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี วิจัยกรุงศรีจึงยังคงประมาณการการเติบโตของการส่งออกของปีนี้ไว้ที่ 13.5% เทียบกับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ที่เติบโต 16.2%