ใคร ๆ ต่างก็หวังว่า “เลือกตั้งแล้วชีวิตจะดีขึ้น” โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ระยะหลังตื่นตัวทางการเมืองเยอะขึ้นมาก ก็ดูเหมือนจะชอบพรรคที่เน้นนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนคนเท่ากัน เน้นด้านซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างความภูมิใจให้กับประเทศชาติได้ เด็กรุ่นใหม่วัยทีนเอจสมัยนี้โชคดีตรงที่ระบบการศึกษาอะไรมันดีขึ้น และเกิดทันกับการเรียนรู้ในยุคที่เทคโนโลยีโตอย่างก้าวกระโดด จึงไม่ค่อยเป็นพวก “โลว์เทค” แบบอะไรแปลก ๆ มาก็ใช้ไม่ค่อยจะเป็น ..เทคโนโลยีโตเร็วก้าวกระโดดช่วงหนึ่ง จนเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และเกิดช่องว่างทางความรู้ของคนในช่วงวัยหนึ่ง

Photo voter on a thailand flag background 3d illustration

วันนี้จะขอเล่าถึงเรื่องสามัญชนธรรมดา ๆ ที่คิดถึงการเลือกตั้งแบบง่าย ๆ …หญิงสาวผู้เรียนจบรุ่นวิกฤติต้มยำกุ้งรายหนึ่ง สมมุติว่าชื่อ “สาว” ..เธอเป็นคนทำงานในองค์กรที่พนักงานต้องแต่งเครื่องแบบสวย เสื้อผ้าหน้าผมเป๊ะ ถ้านับ ๆ ดู สาวอายุราว 44 ปี  เป็นคนโสด เข้ามาเรียนและหางานทำในกรุงเทพฯ และอยู่มาเกือบ 30 ปี ..ก็เป็นผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ได้สะดุดตาอะไร กิจวัตรประจำวันอยู่แค่เช้าไปทำงาน ตอนเย็นออกกะ นั่งรถขนส่งมวลชนสาธารณะกลับบ้าน เสร็จแล้วนอนดูทีวี รอให้ถึงรุ่งเช้าของอีกวัน และกิจวัตรประจำวันนี้ก็ดำเนินต่อไปอย่างซ้ำซาก

                แม้องค์กรที่สาวทำงานอยู่จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่โอกาสเติบโตในสายงานน้อยมาก เพราะพนักงานในตำแหน่งของสาวมีเป็นจำนวนมาก เมื่อโอกาสเติบโตน้อย มันก็ไม่กระตุ้นอะไรให้สาวไขว่คว้าพยายามอะไรมาก แค่ทำงานไปวัน ๆ รอลุ้นโบนัสหรือเงินเดือนเพิ่มขึ้นบ้าง เผื่อจะซื้อของฟุ่มเฟือยได้บ้าง และเมื่อเกิดภาวะวิกฤติโควิดที่ผ่านมา สาวได้แต่ภาวนาอย่าให้บริษัทปลดเธอออก แม้บริษัทจะต้องลดค่าใช้จ่ายโดยจิ้มพนักงานออกบางส่วน และลดเงินเดือนพนักงานที่ทำงานหน้างาน ….อย่างไรก็ตาม ในที่สุด สาวก็ยังทำงานอยู่ต่อไปได้ แต่ต้องรัดเข็มขัดอีกหน่อย

                องค์กรที่ทำงานอาจเป็นเซฟโซนของสาว ที่หารายได้ได้สม่ำเสมอ บางเดือนลำบากบ้างถ้ามีรายจ่ายฉุกเฉินเข้ามา แต่องค์กรไม่จำเป็นต้องมีสาว เพราะคนใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาแทนได้มีเยอะแยะ และคนพวกนั้นเก่งกว่าสาว มีไฟกว่าสาวที่ทำงานที่เดิมมานานไม่เปลี่ยน ..จะให้สาวไปทำงานอะไรอย่างอื่น สาวก็ไม่มีทักษะอะไร ยิ่งภาษา เธอจัดได้ว่าแย่มาก ภาษาไทยก็ยังเขียนผิด ๆ ถูก ๆ ภาษาอังกฤษแม้แต่คำง่าย ๆ ก็ไม่สามารถอ่านได้ …สาวเคยถูกเพื่อนร่วมงานมองแปลก ๆ เมื่อลูกค้าถามชื่อรุ่นสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ ..แม้จะเป็นคำง่าย ๆ ติดอยู่บนฉลากแต่สาวก็อ่านไม่ออก ต้องถามเพื่อนร่วมงาน

                สาวก็คือภาพสะท้อนของวัยผู้ใหญ่ที่มีโอกาส burn out หรือหมดไฟต่องานได้สูง เพราะความซ้ำซากจำเจของงาน ไม่มีการแข่งขันให้เจริญก้าวหน้า ไม่มีการพัฒนาทักษะใด ๆ ..โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะที่กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้คือ ภาษาที่ 2 ซึ่งบางคนว่าควรจะได้ถึง 3 ภาษากันแล้วด้วยซ้ำ ..และการใช้คอมพิวเตอร์ทำงานต่าง ๆ การรู้จักเทคโนโลยี ก็คือทักษะ แต่ย้อนไปในวันที่สาวยังเป็นเด็กนักเรียน การเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่ดีมากนัก โรงเรียนบางจังหวัดไม่มีครูสอนก็หาใครพอรู้ เปิดคู่มือสอนเอา ไปสอนเน้นประวัติคอมพิวเตอร์มากกว่าการหัดเขียนโค้ด หัดเขียนโปรแกรม หรือมากกว่าใช้โปรแกรมอัตโนมัติด้วยซ้ำ ..20 กว่าปีก่อน คอมพิวเตอร์ก็ไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอนในโรงเรียน

                เรื่องภาษา ยิ่งโรงเรียนต่างจังหวัดเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ยิ่งยากที่จะเอาครูสอนภาษาอังกฤษเก่ง ๆ มาสอน ที่สอนแบบเน้นให้สื่อสารได้ ไม่ใช่ไวยากรณ์ต้องเป๊ะ วิชาภาษาอังกฤษ กลายเป็นยาขมของนักเรียนต่างจังหวัดเมื่อยุคนั้นหลายคน ..อารมณ์ประมาณก็ไม่ได้ใช้นี่หว่า ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ ก็เลยไม่ตั้งใจเรียนนัก หรือบางคนไปตั้งใจเอาตอนจะเอนทรานซ์ แต่พอสอบเข้าได้ก็สนใจแต่วิชาคณะ ไม่สนใจเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเลือกนอกจากตัวบังคับ ผลคือพอไม่ใช้นาน อย่าว่าแต่การผูกประโยคเพื่อการสื่อสาร แค่ศัพท์ง่าย ๆ บางตัวก็ไม่รู้ความหมาย

                ที่เล่าเรื่องสาวมาทั้งหมด เพื่อจะบอกไปยังนักการเมืองอะไรต่าง ๆ ในช่วงที่มีการเลือกตั้งว่า “มีคนแบบสาวอยู่จำนวนมากในสังคม” คือเติบโต ทำงานในยุคเปลี่ยนผ่านของสังคม เทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นจนตามไม่ทันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรื่องการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ คนวัยเดียวกับสาวที่เก่ง ๆ ส่วนใหญ่คือพวกชอบและขวนขวายพัฒนาตัวเองตั้งแต่มัธยม ..การศึกษาไม่ได้เน้นเรื่องความสำคัญของการรู้ภาษาที่สองหรือกระทั่งสามจนกระทั่งสื่อสารได้ เอาแค่ว่า “เขียนอย่างไรให้ถูกไวยากรณ์” ภาษาอังกฤษกลายเป็นวิชายาขมสำหรับเด็กที่ไม่อยู่ในเขตเมืองใหญ่หลายคน

                คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มที่อยู่เงียบ ๆ ไม่ค่อยพูดถึงปัญหาของตัวเอง อารมณ์แบบอนาคตไม่อยากรู้ อยู่ไปวัน ๆ .. ขอแค่ยังมีหน้าที่การงานทำ มีเงินพอใช้จ่าย แต่ลึก ๆ เขาก็หวังว่าชีวิตเขาจะดีขึ้น เพียงแต่ยังหาทางออกไม่ได้ …ไม่กล้าก้าวข้ามออกจากเซฟโซน ..สาวต้องการสะท้อนไปยังนักการเมืองที่ออกนโยบายอะไรต่าง ๆ ว่า ..ถึงจะดูเป็นนามธรรม แต่อยากให้พรรคการเมือง นักการเมืองมีนโยบายอะไรที่เห็นแล้วรู้สึกว่า “คนวัยนี้ถ้าก้าวออกจากเซฟโซนแล้วจะปลอดภัย” ..ซึ่งตอนนี้เขายังไม่กล้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้ชีวิต ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการเรียนและโตมาอย่างไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของโลก ทั้งเรื่องการใช้ภาษา การใช้เทคโนโลยี ..ซึ่งมันก็มีทั้งคนที่ไม่เห็นความสำคัญไปเรื่อย กว่าจะรู้ตัวว่ามันจำเป็นก็อาจสายไปแล้ว หรือคนที่ไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเอง

                เมื่อถามสาวว่า แล้วอยากให้รัฐบาลช่วยอะไร? คำตอบคือ มันมีคนกลุ่มหนึ่งแบบสาวที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงอะไรหรอก วุ่นวายอยู่กับการทำมาหากินแบบชีวิตในเมืองใหญ่ คือทำงานเหมือนเป็นจักรกล เข้า-ออกงานตามเวลา ทำงานซ้ำ ๆ มีโอกาสเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน แต่หมดไฟก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ก็ทู่ซี้ใช้ชีวิตจืดชืดไป ..ตรงนี้ “คนจะมาเป็นรัฐบาล” มีนโยบายอะไรบ้าง ให้ชีวิตความเป็นอยู่เขาดีขึ้น..เพราะเขาก็ไม่อยากทนกับความจำเจ

Person placing its vote in a box

                สาวว่า อย่างน้อยควรต้องมีพื้นที่และรัฐลงทุนให้สำหรับฝึก “ทักษะชีวิต” ที่สำคัญ  อย่างคนวัย 40 อ่านภาษาอังกฤษแทบไม่ออก มันจะมีโอกาสไหมที่เขาจะได้มีพื้นที่เรียนรู้ ได้ใช้ภาษาสนทนา ได้รับแรงกระตุ้นหรือกำลังใจที่ดีจากผู้สอนที่ดีว่า การพูดไม่ต้องไปแคร์ไวยากรณ์ ให้สื่อสารได้ ปัญหาการสื่อสารภาษาอังกฤษของคนไทยคือเกร็ง กลัวพูดผิดไวยากรณ์เสียมาก ..และสอนเรื่องทักษะในความรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้คอมพิวเตอร์อย่างน้อยโปรแกรมสำเร็จรูปก็ทำได้คล่องมือ รู้ภาษาพื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ง่าย ๆ…หรือถ้าจะยิ่งดีไปกว่านี้ คือการแนะนำอาชีพที่ไม่ต้องพึ่งทักษะฝีมือแรงงานเฉพาะ หรือใช้แรงงานหนัก สามารถเรียนรู้และทำได้ในช่วงวัย 40 ปี

                สาวย้ำว่า คนวัยเธอเป็นประเภทกลับตัวไม่ได้ไปก็ถึงยาก..พังเพยฝรั่งบอกว่า อายุคนเราเริ่มต้นตอน 40 ปี สาวก็ไม่รู้ความหมายอะไรมันเท่าไรว่า “เริ่มต้น” ที่ว่าแปลว่าอะไร คือเริ่มมั่นคงในชีวิต หน้าที่การงาน เริ่มค้นพบตัวเองว่า ชอบอะไร เริ่มอยากเปลี่ยนแปลงออกจากเซฟโซน แต่ไม่ว่าความหมายของมันเป็นอย่างไร ..ก็รู้ว่า “มันเป็นวัยที่แข่งกับเด็กใหม่ ๆ ลำบาก”เอาวัย 30 ต้น ๆ ก็แข่งลำบากแล้ว ..พอมาสมัยนี้ แม้แต่เด็กเล็กพ่อแม่วางพื้นฐานทักษะต่าง ๆ รอให้เลย ทั้งด้านความรู้ ทักษะ เพื่อเข้าสังคมอย่างการเต้น เล่นดนตรี พัฒนาบุคลิกภาพ ได้รับการแนะแนวเรื่องการเรียนอะไรที่หารายได้ได้มาก

Audience applauding speaker after conference presentation

                สาวว่า ถ้าพูดถึงนโยบายรัฐบาล เขามีนโยบายสำหรับกลุ่มอาชีพ เกษตรกร แรงงาน อะไรว่าไป กลุ่มเปราะบาง ส่วนนโยบายสำหรับกลุ่มช่วงวัยคือปฐมวัย เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด กับกลุ่มคนรับเบี้ยคนชรา แต่นโยบายสำหรับ “ผู้ใหญ่ที่อยู่ตรงกลางช่วงอายุขัยมนุษย์” สาวไม่เห็นอะไรชัดนัก แต่ถ้าจะให้คิดก็คือการพัฒนาทักษะ เพื่อกล้าก้าวออกจากเซฟโซนนั่นแหละ ไม่ต้องแค่ภาษาหรือเรื่องเทคโนโลยี ..ทักษะทำอาชีพได้มีตั้งหลายอย่าง สอนเป็นบาริสต้า หรือเชฟก็ได้.. หรือถ้าเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ เผื่อใครอยากมีกิจการของตัวเอง ก็มีนโยบายที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของ SME หน่อย

                พอถามว่าชอบนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของเพื่อไทยหรือไม่ สาวบอกว่า ให้ก็ดี แต่ก็ไม่รู้เงื่อนไขการจ่ายจะยุ่งยากอะไรแค่ไหน เท่าที่สาวรู้คือมันก็เป็นเงินบาทแหละ แต่ใส่ในกระเป๋าดิจิทัลเหมือนแอปพลิเคชันเป๋าตัง จ่ายหมื่นมันก็กระตุ้นการบริโภคได้เร็ว จ่ายเป็นเบี้ยหัวแตกอย่างไรก็เรื่องของคนจ่าย แต่รัฐบาลได้ภาษีมูลค่าเพิ่มคืน ..สาวว่า เชื่อสิ ได้หมื่นจ่ายหมื่นอยู่แล้ว การใช้จ่ายมันกระตุ้นเศรษฐกิจ สมัยประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เขายังมีเช็คช่วยชาติ …ก็ขอให้เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และผ่านกฎหมายรับรองนโยบายนี้เร็ว ๆ แล้วกัน เงินฟรีใครไม่อยากได้

                        ก็เป็นเสียงสะท้อนหนึ่ง ที่มาจาก “คนในสังคมเมือง” ซึ่งมันก็เป็นเสียงเล็ก ๆ เสียงหนึ่งที่เขาอยากสื่อสาร เผื่อนักการเมืองจะมีนโยบายโดนใจคนวัยนี้ให้กล้าออกจากความเป็นมนุษย์ที่ทำงานแบบเครื่องจักร

Photo double exposure of coin stack and alarm clock

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”