นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) พร้อมด้วยนายพิสุทธิ์ อมรยุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา ลงตรวจพื้นที่ชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี ร่วมหารือกับนายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา และคณะ เกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ชายหาดพัทยา ซึ่งเป็นชายหาดทราย แหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมถนนเลียบชายหาดพัทยาแล้วไหลระบายลงสู่ชายหาด ชะล้างทรายชายหาดได้รับความเสียหายซ้ำซากในช่วงฤดูฝน 

สำหรับชายหาดพัทยา กรมเจ้าท่าได้จ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาออกแบบก่อสร้างเสริมทรายชายหาดตามแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเมืองพัทยา ในรูปแบบการเสริมทราย (BEACHNOURISHMENT) โดยการนำทรายจากแหล่งอื่นมาถมชายหาดที่หายไป เพื่อเสริมส่วนที่ถูกกัดเซาะให้กลับมามีสภาพเดิม ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดทราย เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการที่สำคัญของ จ.ชลบุรีและของประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวชายหาดพัทยาปีละ 9 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับ จ.ชลบุรีจำนวนมาก 

ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างด้วยการเสริมทรายชายหาดพัทยากว้าง 35 เมตร ความยาวประมาณ 2,800 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดพัทยาเหนือตั้งแต่โรงแรมดุสิตถึงชายหาดพัทยาใต้ รวมระยะทาง 2.8 กม. งบประมาณค่าก่อสร้าง 429 ล้านบาท จนแล้วเสร็จส่งมอบให้เมืองพัทยาเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 28 ก.พ.62 สามารถช่วยกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของชายหาดพัทยาและของประเทศให้กลับมาคึกคัก สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ 

และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนชายหาดพัทยาจะประสบปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา และไหลระบายลงสู่ชายหาดพัทยา ทำให้หาดทรายได้รับความเสียหายซ้ำซาก ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบความเสียหายตลอดแนวชายหาดพัทยา ได้แก่ 1.บริเวณ พัทยาเหนือ ซอย 5 ความเสียหายความกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร 2.บริเวณ พัทยาเหนือ ซอย 6 ความเสียหายความกว้างประมาณ 15 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร 3.บริเวณ พัทยากลาง ความเสียหายความกว้างประมาณ 8 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 2 เมตร 4.บริเวณ พัทยากลาง ซอย 9 (หน้า Central) ความเสียหายความกว้างประมาณ 15 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร+ และ 5.บริเวณ พัทยากลาง ซอย 10 ความเสียหายความกว้างประมาณ 8 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 2 เมตร 

จากการหารือกันของทั้ง 2 หน่วยงานในการแก้ปัญหาดังกล่าว พบว่า ทางเมืองพัทยาจะเร่งเสริมทรายในจุดที่เสียหายให้กลับสู่สภาพชายหาด และในระยะสั้นทางเมืองพัทยาจะป้องกันชายหาดด้วยการนำวัสดุ (แผ่นยาง/แผ่น Geotextile) คลุมชายหาดบริเวณจุดระบายน้ำล้นขณะฝนตกหนัก เพื่อป้องกันกระแสน้ำชะล้างทรายบริเวณชายหาด และจัดเก็บเมื่อระดับน้ำกลับสู่สภาวะปกติ

ส่วนในระยะยาวจะหาแนวทางไม่ให้เกิดน้ำท่วมถนนเลียบชายหาดพัทยา เช่น สร้างอุโมงค์น้ำที่ถนนเลียบชายหาดเป็นจุดรับน้ำไปสู่จุดระบายน้ำขนาดใหญ่ของเมืองพัทยา ทั้งนี้จะหารือการบริหารจัดการน้ำกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เนื่องจากพัทยาเป็นจุดต่ำที่น้ำฝนไหลมาจากเขตพื้นที่อื่นมาที่เมืองพัทยา ร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยว พลิกฟื้นหาดทรายให้กลับคืนสภาพสวยงามดังเดิมอย่างยั่งยืน พร้อมรองรับนักท่องเที่ยววิถีใหม่จากทั่วทุกมุมโลก