วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ นายสายคำ พันทะวง รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว เป็นประธานร่วมในการประชุมปิดโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่โรงเรียนเทคนิค-วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง สปป.ลาว โดยมีนายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต นายไตรรงค์ คลังบุญครอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ผู้แทนกรมเอเชียตะวันออก สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต กรมอาชีวศึกษา และโรงเรียนเทคนิค–วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง เข้าร่วมด้วย
ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือกับรัฐบาล สปป.ลาว มีจำนวน 6 แห่ง โดยแห่งแรกอยู่ที่วิทยาลัยกสิกรรมดงคำช้าง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งได้ส่งมอบไปแล้วเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 แห่งที่สองอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิค–วิชาชีพแขวงคำม่วน ได้มีการส่งมอบไปแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 แห่งที่ 3 อยู่ที่โรงเรียนเทคนิค-วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง รวมทั้งได้มีการขยายผลไปยังโรงเรียนเทคนิคอีก 3 แขวง ทั่ว สปป.ลาว คือ แขวงบ่อแก้ว แขวงไซยะบุลี และแขวงอัดตะปือ
การตั้งศูนย์เรียนรู้ในสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษา เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาว ที่ต้องการตอบสนองการพัฒนาด้านเกษตรของ สปป.ลาว ทั้งการศึกษาในระบบและให้ความรู้แก่ชุมชน โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศหรือ TICA จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเพิ่มทักษะในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนหรือวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนด้านเกษตรผสมผสานแบบยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนเทคนิค–วิชาชีพ แขวงเซกอง อยู่ที่บ้านโม เมืองละมาน แขวงเซกอง มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี ระหว่างปี 2561–2563 โดยมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานดำเนินการ ประกอบด้วย 4 แผนงาน ได้แก่
1. การตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่โครงการ 13 ไร่ มีจำนวนฐานเรียนรู้ 7 ฐานเรียนรู้ใหญ่ ได้แก่ (1) ด้านสมุนไพรและไม้ผล (2) ด้านพืชผัก (3) ด้านเลี้ยงสัตว์ (ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ด หมู) (4) ด้านประมง (ปลาและกบ) (5) ด้านดิน ปุ๋ยและไส้เดือน (6) น้ำส้มควันไม้ และ ถ่านไม้ และ (7) พืชอาหารสัตว์และอาหารข้นสำหรับสัตว์ ทั้งนี้ ได้มีพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562
2. การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรสะอาดได้ผลผลิตปลอดภัยและเป็นต้นแบบยั่งยืนให้แก่ ครู อาจารย์ นักเรียน บุคลากรของโรงเรียนฯ มีการจัดศึกษาดูงานในประเทศไทย 2 ครั้ง (สำหรับผู้บริหาร 9 คน และอาจารย์ประจำฐานเรียนรู้ 11 คน) และอบรมให้แก่ครูและนักเรียน 12 หลักสูตร รวม 480 คน ใน สปป.ลาว โดยใช้ฐานการเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการอบรม
3. การพัฒนาโรงเรียนฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ด้านเกษตรผสมผสานที่มีความพร้อมสำหรับการให้บริการวิชาชีพ การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน มีการฝึกอบรมให้บริการวิชาชีพแก่โรงเรียนเครือข่ายและชุมชน 12 ครั้ง รวม 295 คน อบรมการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ด้านการเกษตร 3 ครั้ง รวม 90 คน และมีการจัดแสดงผลผลิตศูนย์เรียนรู้ 2 ครั้ง
4. การติดตามและประเมินผล ปัจจุบันโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามแผนงาน มีผู้เชี่ยวชาญติดตามผลการดำเนินงานกิจกรรมของศูนย์ 12 ครั้ง และมีการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ จำนวน 2 ครั้ง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการ
จากการดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ใน 6 แขวง ของ สปป.ลาว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวแล้ว ยังทำให้ สปป.ลาว สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustianable Development Goals : SDGs ในเป้าหมายที่ 1 การลดความยากจน โดยเริ่มจากการลดความยากจนในระดับฐานราก (Grassroots Level) ผ่านการสร้างองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม เป้าหมายที่ 2 การขจัดความหิวโหย โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนและชุมชน ด้านเกษตรสะอาดและผสมผสานแบบยั่งยืน
และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่ดี ที่เสริมสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริงผ่านกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพชุมชน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาวบ้านและบุคลากรท้องถิ่น สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นการบรรลุเป้าหมายที่ 17 เป็นการเสริมสร้างสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของไทย ผ่านการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังเป็นการป้องกันปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย เช่น ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ โดยการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนใน สปป.ลาว