น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) ระยะที่ 1 (2564-2565) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ กำหนดให้พาณิชย์อีคอมเมิร์ซเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ มีเป้าหมายสร้างรายได้จากการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี 65 และทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเอสเอ็มอี เติบโตไม่น้อยกว่า 55% ต่อปี มูลค่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ เติบโตไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี รวมถึงเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐกับเอกชน และเกิดการบูรณาการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกัน โดยสามารถออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุมให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บภาษี การเชื่อมโยงกับบริการของรัฐ และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้า รวมทั้งพัฒนากลไกการคุ้มครอง และเยียวยาผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการประกอบธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ จะดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าพรมแดน โดยมีตัวชี้วัด เช่น เพิ่มมูลค่าอีคอมเมิร์ซเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี 65 พัฒนาผู้ประกอบการที่ให้บริการแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ให้จดทะเบียนนิติบุคคลและเป็นของคนไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยตัวชี้วัด เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีที โลจิสติกส์ การเงิน อย่างน้อย 10 โครงการต่อปี
ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีตัวชี้วัด เช่น จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยตัวชี้วัดเช่น มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตขึ้นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี และมีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี