เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน ขณะที่ภาคเศรษฐกิจสำคัญอย่างภาคการลงทุนและการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นจาก COVID-19 และมาตรการจำกัดการเดินทางส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย ยิ่งตกอยู่ในภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดจากข้อจำกัดภายในประเทศ และต้องหาทางออกใหม่เพื่อให้ธุรกิจรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 6% แต่เป็นการฟื้นตัวแบบ “กระจุก” บางประเทศเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ยังชะลอตัวแม้จะมีมาตรการบรรเทาและช่วยเหลือจากภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง “ภาคส่งออก” คือ พระเอกคนเดียวที่เศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งได้ และเป็นทางรอดสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากตัวเลขการส่งออกของไทยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวได้ถึง 16.2% (คิดเป็นมูลค่า 154,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนขยายตัวได้กว่า 40% สูงสุดในรอบ 11 ปี โดยตลาดส่งออกกว่า 90% ล้วนขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก สืบเนื่องจากหลายประเทศฟื้นตัวและสามารถอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดี โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ จีน และบางประเทศในยุโรป ที่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ทันท่วงที ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิด Demand สินค้าที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในช่วงที่ถูกจำกัดการเดินทาง โดยประเทศเหล่านี้เป็นตลาดใหญ่ของผู้ส่งออกไทย คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย

ด้วยแรงผลักภายในประเทศบวกกับแรงดึงดูดจากภายนอก ผู้ประกอบการ SMEs ควรเตรียมพร้อมที่จะปรับธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ส่งออกใหม่ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตให้ธุรกิจออกไปแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดย EXIM BANK ชี้ 3 ปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อนที่ SMEs จะเป็นเรือเล็กออกจากฝั่งไปสู่ตลาดโลก

1. ความพร้อมด้านสินค้าหรือบริการ สร้างจุดขายที่แตกต่างของสินค้าที่จะส่งออก เพื่อให้สามารถสร้างคุณค่าหรือตอบโจทย์ที่ผู้ซื้อต้องการได้ดีกว่าข้อเสนอจากคู่แข่ง

2. ความพร้อมด้านการตลาด ศึกษาและทำความเข้าใจตลาดในประเทศเป้าหมายให้ดี โดยเฉพาะความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือผู้ซื้อในแต่ละประเทศ เช่น ความต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่างกันของกลุ่มประเทศที่ยังมีการระบาดของ COVID-19 และกลุ่มประเทศที่การระบาดคลี่คลายแล้ว รวมไปถึงการรู้จักคู่แข่งในตลาดเพื่อหากลยุทธ์ในการแข่งขันที่สร้างความได้เปรียบ นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ตลอดจนการกระจายสินค้า เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสการกระจายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากที่สุด

3. ความพร้อมด้านการเงิน เงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งในด้านการสต๊อกสินค้าหรือวัตถุดิบเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้น SMEs ต้องมีการบริหารสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจราบรื่น อีกทั้งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดขัดและล่าช้าในการผลิตจนส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ทางการค้าในระยะยาว 

ดังนั้น EXIM BANK จึงพร้อมช่วยพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็น “นักรบเศรษฐกิจไทย” ที่แข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง โดย

1. บ่มเพาะ ให้ความรู้ด้านการส่งออก รวมถึงให้คำปรึกษาทางธุรกิจ พร้อมทั้งได้พัฒนาระบบ Thailand Export Readiness Assessment & Knowledge Management (TERAK) เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการประเมินความพร้อมของธุรกิจก่อนเริ่มต้นส่งออก

2. ต่อยอด สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เช่น จัด Online Business Matching กับผู้ซื้อในต่างประเทศ และพัฒนา Thailand E-Commerce Pavilion เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้ SMEs เข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลกได้

3. เติมทุน เสริมสภาพคล่องตลอดวงจรธุรกิจ สนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้ส่งออก รวมถึงบริการประกันการส่งออก เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกมีความมั่นใจในการทำธุรกิจส่งออกมากยิ่งขึ้น

ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ และโอกาสของ SMEs ขึ้นอยู่กับความพร้อมของตนเอง บวกกับทิศทางตลาดโลกตามจังหวะของวิกฤติ ดังนี้

1. ตลาดที่ COVID-19 ยังระบาด ต้องการสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในภาวะวิกฤติ อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและสุขอนามัยอย่างเวชภัณฑ์ ถุงมือยาง เครื่องดื่มผสมวิตามิน อาหารที่เก็บได้นานใช้ในช่วงกักตัวอย่างอาหารกระป๋อง และสินค้าตอบโจทย์ Work from Home เช่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

2. ตลาดที่ COVID-19 คลี่คลาย ตลาดกลับมาเริ่มต้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจับจ่ายใช้สอย อาทิ สินค้า Lifestyle อย่างเสื้อผ้า เครื่องสำอาง สินค้าเกี่ยวกับการเดินทางอย่างกระเป๋าเดินทาง รวมทั้งสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อรองรับภาคผลิตที่กำลังฟื้นตัว

3. ตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตในยุค New Normal ซึ่งคงหนีไม่พ้นธุรกิจ Green, Digital, Health (GDH) ตาม Trend สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กระแส New Normal อาทิ สินค้า Green อย่างบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ Plant-based Food สินค้าตามกระแสดูแลสุขภาพอย่าง Functional Food และธุรกิจประเภท Digital Content และธุรกิจเกี่ยวกับ E-Commerce ซึ่งกำลังมาแรง

“ช่วงเวลานี้เป็นนาทีทองที่ “เรือเล็กอย่าง SMEs ที่ต้องออกจากฝั่ง” เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดต่างประเทศ เพราะบรรยากาศเศรษฐกิจและการค้าโลกค่อนข้างเอื้ออำนวย ประกอบกับการจับปลาแต่ในประเทศไทยอย่างเดียวก็เผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น โดย EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่ “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs) ช่วยผู้ประกอบการกลัดกระดุมเม็ดแรกของการเริ่มต้นส่งออกอย่างถูกต้องและมั่นคง” ดร.รักษ์กล่าว

ในช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจประสบวิกฤติ COVID-19 ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ บางคนอยู่ในกลุ่มสีแดง รอจังหวะที่จะลุก บางคนอยู่ในกลุ่มที่กำลังฟื้นตัว และบางคนยังเติบโตได้ดี เพราะมีสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal ทางรอดของผู้ประกอบการจึงขึ้นอยู่กับการปรับตัวและความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง การผันตัวไปสู่การเป็นผู้ส่งออกในช่วงจังหวะที่ตลาดโลกกำลังฟื้น จึงเป็นทางเลือกที่ EXIM BANK นำเสนอและพร้อมทำหน้าที่ที่ปรึกษาเพื่อช่วยให้ SMEs ไทยอยู่รอดและเติบโตได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน