พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการควบคุมการระบาด นำส่งผู้ป่วยเพื่อรักษา และเร่งฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อพี่น้องชาว กรุงเทพฯ ทุกคนผ่านพ้นวิกฤติโควิดในครั้งนี้ให้ได้เร็วที่สุด และขอขอบคุณและส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าทุกคนที่ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มที่ครับ และผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็ว”
การค้นหาผู้ป่วยโควิด–19
- จัดทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (Bangkok CCRT) 260 ทีม ปูพรมตรวจเชิงรุกตามชุมชนกว่า 3,200 ชุมชน มีประชาชนเข้ารับบริการกว่า 175,000 ราย
- จัดหน่วยตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 จำนวน 6 จุด 6 กลุ่มเขต ตรวจหาเชื้อด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK)
- จัดจุดบริการตรวจหาเชื้อ RT-PCR จำนวน14 จุด โดยรับเฉพาะผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR
การประสานและส่งต่อผู้ป่วย
- สำนักเทศกิจและสำนักงานเขต จัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อสนับสนุนรถพยาบาลศูนย์เอราวัณ1669
- จัดเจ้าหน้าที่รับสายด่วนโควิด 50 เขต เขตละ 20 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับการประเมินเข้าสู่ระบบการรักษา
การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งตามระดับอาการออกเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มสีเขียว สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย กลุ่มนี้จะให้ รักษาตัวอยู่บ้าน Home Isolation (HI) หรือ รักษาตัวที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ Community Isolation (CI) จำนวน 70 แห่ง และ ศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community : Semi Ci) จำนวน 57 แห่ง ที่ชาวชุมชนได้รวมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อแยกการรักษาผู้ป่วยจากชุมชน
- กลุ่มสีเหลือง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ หรือผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง พักรักษาอยู่ที่ โรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต (CI Plus) จำนวน 7 แห่งและ โรงพยาบาลสนาม จำนวน 7 แห่ง ซึ่งแห่งล่าสุดได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น คุณตัน ภาสกรนที คุณไดอาน่า จงจินตนาการ และหมอแล็บแพนด้า สำหรับการจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนามตันปัน เขตห้วยขวาง” หรือ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการโรงแรม และโรงพยาบาลเอกชน
- กลุ่มสีแดง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเพื่อขยายศักยภาพการดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงกลุ่มสีแดง ได้สร้างห้องความดันลบ (Modular ICU) 4 อาคาร (ICU 1 2 3 4)รองรับผู้ป่วยได้ 40 เตียงณรพ. สนามราชพิพัฒน์ 1 โดย SCG ได้ร่วมบริจาคทุนสำหรับสร้างอาคาร Modular ICU จำนวน 33,000,000 บาท
การให้บริการวัคซีนโควิด-19
- โครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” จัดจุดฉีดวัคซีน 25 จุด สำหรับประชาชนอายุ 18 – 59 ปี และประชาชนกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากหอการค้าไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วยค่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
- การฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนกลุ่ม 608 และ ผู้ป่วยติดเตียง โดยทีม Bangkok CCRT ในชุมชน
- จุดบริการวัคซีนในโรงพยาบาลสังกัด กรุงเทพมหานคร 11 แห่ง
การให้กำลังใจและเยียวยา
- จัดตั้ง โรงครัวสนาม กทม. (รถครัวสนามเคลื่อนที่)เพื่อประกอบอาหารมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน
- ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมมอบสิ่งของและอุปกรณ์การแพทย์สนับสนุนภารกิจป้องกันโควิด-19 มากกว่า 100 หน่วยงาน เช่น มูลนิธิพุทธรังษี มอบเครื่องผลิตออกซิเจน ตระกูลอัศวนิเวศน์ มอบชุด PPE บริษัท SCG มอบเตียงกระดาษและเครื่องนอน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มอบข้าวกล่องกว่า 2 ล้านกล่อง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มอบถุงยังชีพ เป็นต้น
- จิตอาสาพระราชทาน 904 ร่วมกับ กทม. ดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน (HI) โดยส่งของใช้ ยา และ อาหาร 3 มื้อต่อวัน ให้ถึงบ้าน
การควบคุมตามมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยกทม. ร่วมกับตำรวจและหน่วยงานความมั่นคง
- การตรวจแคมป์คนงานก่อสร้าง ตลาด และโรงงาน เพื่อติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
- ตั้งด่านตรวจคัดกรองโควิด-19 จำนวน 6 จุด ในพื้นกรุงเทพฯ
การจัดการขยะติดเชื้อ
- ตั้งถังรองรับหน้ากากอนามัย เป็นการเฉพาะ (สีส้ม) กว่า 1,000 จุด
- จัดเก็บขยะติดเชื้อ เพื่อนำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม
กรุงเทพมหานครเร่งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยความเสียสละทุ่มเท ทั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อที่เราจะได้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันโดยเร็ว