หลังจากที่วงการภาพยนตร์ไทย สูญเสียบุคคลสำคัญครั้งใหญ่อย่าง สุรสีห์ ผาธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ไทย ที่เสียชีวิตด้วยอาการน้ำท่วมปอด ติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ในวัย 75 ปี
สร้างความอาลัยให้กับวงการบันเทิงไทย ลูกศิษย์ทั้งหลาย และครอบครัวเป็นอย่างมาก ทางเดลินิวส์ออนไลน์ จึงได้รวบรวมประวัติโดยย่อ ของ พ่อใหญ่สีห์-สุรสีห์ ผาธรรม มานำเสนอ เพื่อเป็นการรำลึกถึงผลงานที่ผ่านมา ของ ยอดผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชั้นครูผู้ล่วงลับ
สำหรับ สุรสีห์ ผาธรรม หรือ พ่อใหญ่สีห์ เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2491 ที่จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช มีบุตรธิดา 4คน (ชาย 2 หญิง 2) เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทย นักแสดงในบางครั้ง ทั้งนี้ยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์และวีซีดี ชื่อ สุรสีห์ผาธรรมฟิล์ม
พ่อใหญ่สีห์ เริ่มต้นชีวิตในวงการบันเทิง ด้วยความที่ในสมัยเด็กเป็นคนชอบภาพยนตร์ จึงละทิ้งไปเป็นนักพากย์หนัง ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับ คุณกมล กุลตังวัฒนา ซึ่งภายหลังได้มาเปิดบริษัทหนังในกรุงเทพฯ ซื้อหนังอินเดียเข้ามาฉายในประเทศไทย
จนภายหลังพ่อใหญ่สีห์ เกิดความคิดที่จะลองเป็นผู้กำกับเอง จึงชวน คุณกมล กุลตังวัฒนา มาทำหนัง โดยมีหนังเรื่องแรกที่กำกับคือ มนต์รักแม่น้ำมูล สุรสีห์รับหน้าที่เป็นผู้ช่วย ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้าง ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จไม่น้อย ทำรายได้ถึงล้านบาท
จากนั้นคุณกมล เห็นถึงความสามารถ จึงเลื่อนให้มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ มีภาพยนตร์กำกับเรื่องแรกคือ ครูบ้านนอก ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงอย่างมาก และยังเป็นการสร้างพระเอกชื่อดัง ปิยะ ตระกูลราษฎร์ มาประดับวงการบันเทิงไทย จากงานชิ้นนี้ ทำให้สามารถคว้ารางวัล ผู้กำกับหนังยอดเยี่ยมและภาพยนตร์สร้างสรรค์เยาวชนดีเด่น ในงานมหกรรมภาพยนตร์ที่นครทาชเคนต์ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบก (ปัจจุบันคือกรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน)
นอกจากนี้ยังมีผลงานกำกับภาพยนตร์อย่าง หนองหมาว้อ (2522), ลูกแม่มูล (2523), ครูวิบาก (2524), ครูดอย (2525), สวรรค์บ้านนา (2526), ผู้แทนนอกสภา (2526), ราชินีดอกหญ้า (2529), บ๊าย บาย ไทยแลนด์ (2530) และล่าสุดนำภาพยนตร์ ครูบ้านนอก มาทำใหม่ ในชื่อ ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ (2553)
ผลงานกำกับภาพยนตร์
– ครูบ้านนอก (2521)
– มนต์รักแม่น้ำมูล (2521)
– หนองหมาว้อ (2522)
– ลูกแม่มูล (2523)
– ครูวิบาก (2524)
– ครูดอย (2525)
– ผู้แทนนอกสภา (2526)
– สวรรค์บ้านนา (2526)
– หมอบ้านนอก (2528)
– ราชินีดอกหญ้า (2529)
– บ๊าย บาย ไทยแลนด์ (2530)
– ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ (2553)
– มนต์รักขุมคำ (2560)
ผลงานการแสดง
– 15 ค่ำเดือน 11 (2545)
– สะใภ้บรื๋อ (2551)
รางวัลสาขาต่างๆ ที่ได้รับ
– ภาพยนตร์ “ครูวิบาก” ได้รับ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำภาพยนตร์สร้างสรรค์สังคมดีเด่นและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2524
– ภาพยนตร์ “ผู้แทนนอกสภา” ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2526
– ภาพยนตร์ “ราชินีดอกหญ้า” ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ประจำปี 2529
– ภาพยนตร์โฆษณา “ขอแขนให้แม่ข้า” ได้รับรางวัลแท็กอะวอร์ดภาพยนตร์โฆษณาสร้างสรรค์สังคมดีเด่น ประจำปี 2531
– สารคดีโทรทัศน์ชุด “สารคดีจากที่ราบสูง” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สารคดีส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมดีเด่นประจำปี 2533
– ภาพยนตร์สั้น “Yes I am” ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพยนตร์สั้น ปี ค.ศ. 2009 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว โดยสถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศลาว
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย