ในส่วนภาคการเงิน ถือเป็นส่วนสำคัญจะสร้างแรงขับเคลื่อนให้คำว่า “โก กรีน โก ทูเกเตอร์” ไปถึงเป้าหมายและยังช่วยภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่าน “กรีน ไฟแนนซ์” หรือการระดมทุนต่าง ๆ ทั้งสินเชื่อสีเขียว ตราสารหนี้สีเขียวและกองทุนสีเขียว เป็นต้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมการเงินการลงทุนสนับสนุนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ให้เกิดขึ้น

สำหรับคำว่า “กรีน ไฟแนนซ์” หรือ การเงินสีเขียว ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ในฐานะกำกับหน่วยงานสถาบันการเงินที่อยากจะเห็นในเรื่องนี้มี 5 ด้าน โดย ด้านแรก เป็นเรื่องการแยกกลุ่มธุรกิจให้ชัดเจนว่ากลุ่มไหนคือกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นกลุ่มสีเขียว และกลุ่มไหนไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, ด้านที่สอง กำหนดมาตรการการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงินให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเช่น ข้อมูลการเงินต่าง ๆ

ด้านที่สาม เป็นการส่งเสริมสถาบันการเงินให้มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ลดความเสี่ยง และสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัว ลดธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ด้านที่สี่ เป็นเรื่องของการหามาตรการแรงจูงใจให้สถาบันการเงินและภาคธุรกิจเร่งปรับตัวให้เข้าสู่กรีนมากขึ้น เช่น การลดต้นทุน ลดอุปสรรคต่าง ๆ และ ด้านที่ห้า เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มทักษะและศักยภาพของบุคลากรทางการเงินให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

ซึ่งการแยกคำนิยามของแต่ละกลุ่มสีเขียวนั้น ทำให้กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความชัดเจนและเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง และยังมีการเปิดเผยข้อมูลในการทำธุรกิจสีเขียวอีกด้วย แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยในบางธุรกิจได้เริ่มกิจกรรมสีเขียวขึ้นบ้างแล้ว เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อมูลที่จะแยกการจัดเก็บไว้อย่างมีมาตรฐาน

จากข้อมูลในอดีตช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งแต่ปี 2550-2560 บ่งชี้ว่ามีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสีเขียวเพียง 0.4% ของบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด ส่วนในด้านสินเชื่อสีเขียว พบว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ค่อย ๆ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ไต่ระดับมาอยู่ที่ 2.5% ของสินเชื่อทั้งหมด จาก 62,000 ล้านบาทในปี 2556 เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาทในปี 2563

ปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวกับสีเขียวเป็นตัวช่วยในการระดมเงินให้กับภาคธุรกิจเพื่อสร้างกิจกรรมสีเขียว แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. ตราสารหนี้สีเขียว (กรีน บอนด์) เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะกับโครงการที่เกี่ยวกับการคมนาคมที่คาร์บอนตํ่า พลังงานสะอาดและอาคารที่มีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานดีต่อจากนี้กรีน บอนด์น่าจะเป็นทางเลือกหลักสำหรับกรีนไฟแนนซ์

2. กองทุนรวมตราสารทุนสีเขียว (กรีน อิควิตี้ ฟันด์) คือกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในโครงการที่มีนโยบายด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักลงทุนสามารถรวมเงินลงทุนกันเพื่อลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ได้ตกลงกันไว้ใน 15 ปีที่ผ่านมา  กรีน อิควิตี้ ฟันด์ มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน

3. เป็นการระดมทุนผ่านการกู้ยืมสีเขียว (กรีน โลน) คือการกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับตราสารหนี้สีเขียว และกรีนโลนนี้กำลังจะเป็นที่นิยมและภาคธนาคารกำลังผลักดันมากขึ้นไม่ใช่เฉพาะให้กับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเข้ามาสู่ภาคครัวเรือนด้วย เช่น การให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนการใช้ไฟฟ้ารูปแบบดั้งเดิม ที่นับวันค่าไฟก็ยิ่งแพงแสนแพง

เรียกได้ว่า “กรีน ไฟแนนซ์” มีความสำคัญกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดสังคมคาร์บอนตํ่า และเข้าสู่เน็ตซีโร่ได้ไม่ยาก แม้กระทั่งภาคครัวเรือนเริ่มหันมาประหยัดพลังงานมากขึ้น ใส่ใจกับการรักษ์โลก และมีทางเลือกในการประหยัดพลังงาน ซึ่งส่วนสำคัญเลยก็คือภาคการเงินที่ร่วมกันทำให้ “สังคมสีเขียว” เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย.