ซึ่งหาก ย้อนโฟกัสที่ปี 2562 ยิ่ง “เหมือนอย่างไม่น่าจะเหมือน??” ทั้งนี้ เมื่อไทยเกิดปัญหาฝุ่นพิษขึ้นอีก…เสียงเตือนจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพก็ดังขึ้นอีก และในขณะเดียวกัน…กับ เสียง “ปุจฉา” หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขป้องกันปัญหา ก็ดังขึ้นอีกเช่นกัน… 

“ก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562” มี “ปุจฉา”

“ก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566” นี้ “ก็มีอีก”

“ปุจฉา” ว่า “ก่อนเลือกตั้ง ส.ส. มีผล??”

ทั้งนี้ กับ “ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5” ที่หนักหน่วงในไทยอีกในปี 2566 นี้…เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ได้มีการร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ผนึกกำลังร่วมกับองค์กรสมาชิกที่เป็นภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และภาครัฐ จัดงาน สัมมนาวิชาการ “บทบาทภาคธุรกิจไทย TBCSD ในการร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM 2.5” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของประเทศไทย และแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งมีการนำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM 2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อน และ เสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วย

งานสัมมนางานนี้…ด้านหนึ่งก็น่าสนใจ กับการที่เป็นการบ่งชี้ว่า ภาคเอกชนก็ตื่นตัวแก้ไขป้องกันปัญหา PM 2.5 และในอีกด้าน…จากการที่มีการระบุถึงภาครัฐ มีคำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการที่ก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขป้องกันปัญหาจากการที่มีการระบุถึงแนวทางบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมีการระบุถึงมาตรการแก้ไขปัญหา และการเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง …นี่ก็ดูจะมีนัยสะท้อนถึง “การจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยภาครัฐ?” …ซึ่งสะท้อนถึงการจัดการปัญหานี้โดยภาครัฐในมุมใด? หรืออย่างไร? ในทางบวก? หรือในทางลบ? ก็อาจสุดแท้แต่มุมมอง??

ที่แน่ ๆ คือ “ปุจฉาก็ยังคงมีต่อภาครัฐ”

“ปุจฉา” ถึง “การจัดการปัญหา PM 2.5”

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนย้อนดูกรณีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในไทยในอีกกรณี…โดยย้อนไปในปี 2562 ที่ในปีนั้นก็เป็นปีที่ มีการ “เลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป” ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งช่วงต้นปี ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ปัญหา “ฝุ่นพิษ” นั้นก็ “วิกฤติคละคลุ้ง” และกับประเด็น “Crisis Management” หรือ “การจัดการภาวะวิกฤติ” นั้น…กับ การแก้ปัญหา “วิกฤติฝุ่น PM 2.5” ก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ “มีปุจฉา” ถึงการบริหารจัดการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขณะที่ ในมุมวิชาการนั้น ก็ได้มีการวิเคราะห์ มีการ “ให้คะแนนหัวข้อการจัดการวิกฤติฝุ่น” โดยอิงหลักวิชาการ-หลักการบริหาร

ย้อนไปก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้เคยสะท้อน “มุมวิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดการภาวะวิกฤติฝุ่น PM 2.5 โดยภาครัฐ” จากทาง ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล นักวิชาการสาขาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไว้เมื่อ 2 ก.พ. ซึ่งโดยสังเขปมีว่า… เมื่อพิจารณากันตามหลักวิชาการ หลักการบริหาร เพื่อให้คะแนนในหัวข้อดังกล่าวนี้ ต้องถือว่า “คะแนนไม่ผ่าน” การจัดการภาวะวิกฤติกรณีฝุ่นถือว่า “สอบตก” ซึ่งค่อนข้างน่าประหลาดใจ

“กรณีฝุ่น PM 2.5 นั้น ดูเหมือนภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีปฏิกิริยาตอบสนองค่อนข้างช้า? นอกจากนั้น ตั้งแต่ในระยะแรก แนวทางแก้ไขวิกฤติ มาตรการแก้ไขปัญหาที่มีออกมา ก็เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ-ไม่ตรงจุด? ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อารมณ์สังคม ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เป็นไปในทางไม่ค่อยปลื้ม จนเกิดดราม่าฝุ่นอย่างต่อเนื่อง”

นักวิชาการท่านเดิมยังสะท้อน “ปัจจัยที่ทำให้รัฐสอบตก” เรื่องนี้เมื่อต้นปี 2562 ไว้อีกว่า… เริ่มมาจาก “ขาดแม่ทัพ” เพื่อสั่งการหรือทำหน้าที่ตัดสินใจในการแก้ปัญหา ต่อมาคือ “ขาดวอร์รูม”ไม่มีศูนย์สั่งการในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ที่ควรมีเพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลจากทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาใช้วางแผนแก้ปัญหา และก็นำสู่อีกปัจจัยคือ “ขาดการบูรณาการ” การทำงานไม่เป็นระบบ มีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่เชื่อมโยงกัน การแก้ปัญหาเป็นเพียงอีเวนต์รายวันเท่านั้น? ไม่มีมาตรการระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว หรือไม่มีแผนสำรองเพื่อลดความทุกข์ของผู้ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด

ทั้งนี้ “ก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 กับก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566” นี่…ที่ชัดเจนว่า “เหมือนกันแน่ ๆ คือฝุ่นพิษคละคลุ้งไทย” แต่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนพินิจพิจารณากัน คือ… ทาง ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล ได้เคยตั้ง “ข้อสังเกต” กรณี “ภาครัฐสอบตกเรื่องแก้ฝุ่น” ไว้เมื่อตอนก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ว่า… “ก็ไม่แน่ใจว่ากรณีนี้จะเกี่ยวกับการที่ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งใหญ่หรือไม่?? จึงทำให้การทำงาน การประสานกัน ดูจะมีภาวะสุญญากาศ ทั้งในระดับบุคคล และหน่วยงาน ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยจะเชื่อมต่อกัน และไม่ค่อยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

“สุญญากาศแก้ฝุ่น” นี่ “ปี 2566 นี้ยังไง?”

“กับปี 2562” ดู “เหมือน?-ไม่เหมือน?”

ผู้ที่ทุกข์พิษฝุ่น “ก็ลองตรองกันดู??”.