เริ่มด้วยเหตุการณ์ “ระทึกสุด” จากกรณีที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ติดกัน 2 สมัย ซึ่งสมัยแรกตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ในยุค รัฐบาลใต้ปีก “คสช.” จนมาถึงสมัย 2 ยุค รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมเวลานานกว่า 8 ปี 6 เดือน ได้ถูกส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการนับ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ทั้ง “บิ๊กตู่” พรรคการเมืองต่าง ๆ เหล่ากองเชียร์และกองแช่ง ลุ้นระทึกทุกจังหวะจนถึงวันรู้ผลชี้ขาด ซึ่งจะมีส่วนชี้ชะตาบ้านเมืองด้วย ยิ่งหลังจากศาลฯมีคำสั่งให้ “บิ๊กตู่” หยุดทำหน้าที่ชั่วคราว ยิ่งทำให้ลุ้นแบบนั่งไม่ติด แต่ท้ายที่สุด “บิ๊กตู่” ได้ไปต่อด้วยคำตัดสินของศาลฯ ที่ว่าวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี
รัฐบาลผสมมากสุด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 20 ปี โดยรวบรวม ส.ส. 254 เสียง จาก 19 พรรคการเมือง ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่มี พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำและโหวตให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯสมัยที่ 2 ต่อจากการเป็นนายกฯ จากการรัฐประหาร เสียง ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาล ครั้งนี้ตกอยู่ในสภาพเสียงปริ่มน้ำ เมื่อเทียบกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่มี 246 เสียง และการมีพรรคเข้าร่วมล้นหลามกลับกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ฉายาว่า “รัฐบาลเรือเหล็ก” ที่ต้องฝ่าคลื่นลมไม่รู้จักจบ
“สุดจะเอ่ย” เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งกรณีของ “ปรีดี ดาวฉาย” นายธนาคารชื่อดัง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รมว.คลัง เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2563 แต่ได้ขออำลาตำแหน่ง เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 โดยอ้างปัญหาสุขภาพ รวมเวลาครองเก้าอี้นี้เพียง 27 วัน ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งในกระทรวงการคลัง อีกกรณีหนึ่งเป็นของ “นริศ ขำนุรักษ์” ก็รอนานเกินบรรยาย กว่าจะถึงวันได้ทำหน้าที่ รมช.มหาดไทย เพราะหลังจาก พรรคประชาธิปัตย์ มีมติเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 ส่งชื่อให้ขึ้นนั่งเก้าอี้ มท.3 แทน “นิพนธ์ บุญญามณี” แต่กว่าจะมีการแต่งตั้งต้องใช้เวลานานถึง 7 สัปดาห์ แถมก่อนเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ กลับเจอโควิดเล่นงาน ส่งผลให้พิธีการสำคัญต้องเลื่อนออกไป แต่ท้ายที่สุด ท่าน มท.3 ได้เริ่มงานอย่างเป็นทางการเมื่อ 11 ม.ค. 2566
“โหดสุด” แม้เป็นรัฐบาลลงเรือเหล็กลำเดียวกันแต่ยังเกิดเหตุห้ำหั่นสะเทือนตึกไทยคู่ฟ้า โดยช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่ขณะนั้นเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ตั้งก๊วน “4 ช.” ล็อบบี้ ส.ส.ให้ร่วม เกมล้มโต๊ะ โหวตคว่ำ นายกฯ และ รมต.ในก๊วนลุงตู่บางคนที่ถูกขึงพืดในเวที อภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย. 2564 แต่ “บิ๊กตู่” แก้เกม รอดพ้นศึกซักฟอกได้สำเร็จ จากนั้นถึงคิวเอาคืน “เชือดกบฏ” สั่งปลดฟ้าผ่า “ร.อ.ธรรมนัส” ให้พ้นเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หนึ่งใน “4 ช.” หลุดจาก รมช.แรงงาน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 แถมผลจากเรื่องนี้ยังลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน พปชร. ด้วย
“อ่วมสุด ๆ” วิกฤติใหญ่ที่สร้างความเจ็บปวดไปทั้งโลก คือ การระบาดของโรค “โควิด-19” สำหรับประเทศไทย อัตราการป่วยและการสูญเสียชีวิตพุ่งรัฐบาลจึงออก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” มาจัดการสกัดโรค ประกาศ “ล็อกดาวน์ประเทศ” ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ วิถีชีวิตประชาชนนาน 3 ปี ท่ามกลางงบประมาณแผ่นดินที่มีจำกัด ทำให้รัฐบาลเลือกใช้วิธี กู้เงินนอกงบประมาณ ก่อหนี้ “ก้อนโตสุด” ด้วยการออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถึง 2 ฉบับ มีวงเงินรวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อนำมากอบกู้สถานการณ์ด้านสาธารณสุข การฟื้นฟู เยียวยาประชาชนและเศรษฐกิจ จนถูกฝ่ายค้านตั้งฉายาว่า “นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”
“โดนใจสุด” คือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เพิ่มวงเงิน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ เพื่อลดภาระค่าครองชีพ โดยผู้มีรายได้น้อยหลายสิบล้านคนแห่ลงทะเบียนรับสิทธิมาตลอดอายุรัฐบาล และอีกหนึ่งตัวท็อป คือ โครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อใช้ฟื้นเศรษฐกิจหลังโดนพิษ “โควิด-19” สามารถจูงใจคนให้นำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย ส่งผลดีช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม โดนใจคนทุกระดับฐานะที่แห่ลงทะเบียนล้นหลาม จนทำต่อเนื่องมาถึง 5 เฟส จนเกิดภาพ 2 ลุงคือ “ลุงป้อม-ลุงตู่” ที่แยกย้ายไปเป็นหัวเรือใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐ กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างแย่งกันใช้เป็นนโยบายโกยคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
“สุดปัง” ผลงานสุดแจ่มของรัฐบาลลุงตู่ คือ การฟื้นคืนระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ได้สำเร็จในรอบ 32 ปี หลังจากเกิด 3 คดีใหญ่ในช่วงปี 2532-2533 สั่นสะเทือนจนลดระดับสายสัมพันธ์กับไทย แต่รัฐบาลไทยหลายยุคหลายสมัยพยายามทุกหนทางในการฟื้นฟูสายสัมพันธ์ จนมาประสบผลในยุคนี้ “บิ๊กตู่” เป็น ผู้นำไทยคนแรก ที่ยกคณะเยือน ซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25-26 ม.ค. 2565 ช่วยเสริมสร้างประโยชน์นานัปการต่อทั้ง 2 ประเทศ
“ทิ้งทวน” การประชุม ครม.นัดสุดท้ายในรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดหนักด้วยการอนุมัติ 71 โครงการ แจกแหลกแบบเทกระจาดอนุมัติเงินค่าตอบแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-แพทย์ตำบล-อบต.ทุกตำแหน่ง รวม 5 พันล้าน แต่ก็มีวาระร้อนแอบซ่อนที่ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” รมช.คมนาคม เข็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าที่ประชุม แต่เจอเสียงต้านจน “บิ๊กตู่” สั่งถอยถอนวาระออกไปก่อน
เป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของรัฐบาล 3 ป. ที่ประคองเรือเหล็กมาจนครบวาระ 4 ปี สวนทางกับเพลงของลุงตู่ที่ขอสัญญาว่าจะอยู่ไม่นาน แต่จนบัดนี้ก็ยังโดดลงสนามเลือกตั้ง เพื่อขอโอกาสอยู่ต่ออีก 2 ปี ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยต้องตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งกำหนดอนาคตประเทศของตัวเองอย่างไร.