ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ได้ย้ำเตือนประชาชนระวัง “เป็นเหยื่อ!!” หลังพบว่ามีการโฆษณาชวนเชื่ออวดอ้างเกินจริงเกี่ยวกับ “กล่องสุ่ม” และมีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “ปรากฏการณ์กล่องสุ่ม” ที่ในเมืองไทยยังคงเซ็งแซ่เป็นระยะ ๆ นี้…ระยะหลัง ๆ รูปแบบกล่องสุ่มไม่ได้มีเฉพาะ “กล่องสุ่มสินค้า” เหมือนระยะแรก ๆ แต่ยังมีรูปแบบอื่น ๆ …มี “กล่องสุ่มหวย-กล่องสุ่มหุ้น” อีกด้วย ที่กับ “มุมเศรษฐศาสตร์” นั้น…

ก็มีการ “ชี้ถึงปรากฏการณ์กล่องสุ่ม”…

กรณีเช่นนี้ “ก็สะท้อนมิติสังคมไทย??”

สำหรับ “ที่มา” ของ “กล่องสุ่ม” นั้น ในบทความ “ร้อยเรื่องเมืองไทย” ของ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุไว้ว่า…กล่องสุ่มหรือ“Lucky Box” ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดซื้อขายออนไลน์ เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยเอโดะ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ นำกลยุทธ์การตลาดมาใช้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ด้วยการจำหน่าย “ถุงนำโชค” ซึ่งผู้ที่ซื้อต้องลุ้นว่าในถุงจะมีอะไรบ้าง?  ขณะที่ในไทยรูปแบบกล่องสุ่มเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ปี 2562 ช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด จนทำให้ตลาดซื้อขายออนไลน์เติบโต และมีการนำ “กลยุทธ์กล่องสุ่ม” มาใช้…

 ในฐานะที่เป็น “กลยุทธ์ทางการตลาด”

เพื่อจะ “ดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายสนใจ”

“กล่องสุ่ม” ได้รับความนิยมจากคนไทย จน “เกิดรูปแบบที่หลากหลาย” มีทั้ง… กล่องสุ่มเสื้อผ้า, กล่องสุ่มกระเป๋า, กล่องสุ่มของใช้ในบ้าน, กล่องสุ่มรวมสินค้า และระยะหลังก็มี “กล่องสุ่มเสี่ยงโชค” ทั้งหวย และหุ้น ปรากฏขึ้นด้วย โดยที่ในแง่ของกฎหมายนั้น…การจำหน่ายกล่องสุ่มอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ก็มีอัตราโทษจากความผิดที่เข้าข่ายระบุเอาไว้ชัดเจน…

แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงเกิดกรณีอื้ออึงขึ้น

จากการ “มีเหยื่อถูกต้มด้วยกล่องสุ่ม!!”

ทั้งนี้ “มุมสะท้อน” ต่อ “ปรากฏการณ์เกี่ยวกับกล่องสุ่ม” นั้น เรื่องนี้ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ด้วยโลกมีการเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้กลยุทธ์การตลาดรูปแบบเดิม ๆ อาจใช้ไม่ได้ผล จึงส่งผลให้เกิดกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อจูงใจหรือดึงดูดใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้ธุรกิจสามารถขายสินค้าหรือบริการได้เพิ่มขึ้น โดยหนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของ “กล่องสุ่ม” ที่ได้ถูกนำมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อเพิ่มรายได้และยอดขายให้ธุรกิจ ซึ่งกล่องสุ่มในไทยมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ยุคเริ่มมีโควิด-19…

นับจากนั้น “กล่องสุ่ม” ก็ “ฮอตฮิต”

ถึงขั้นที่ว่า “กล่องสุ่มบริการ” ก็ยังมี

อย่างไรก็ตาม แต่กระแสนิยมกล่องสุ่มนี้…ขณะนี้กำลังค่อย ๆ ลดลง จากการที่เกิดมี “กล่องสุ่มย้อมแมว” เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากกรณีผู้ซื้อ “ถูกหลอก” ก็ยังมีกรณีที่ผู้ซื้อรู้สึก “ผิดหวังคุณภาพสินค้า” จากกล่องสุ่มที่ซื้อ เช่น เป็นสินค้าคุณภาพต่ำ เป็นสินค้าใกล้หมดอายุ หรือไม่สามารถใช้งานได้ จนทำให้หลายคนรู้สึก “เข็ดขยาด” กล่องสุ่ม …ทาง รศ.ดร.สมชาย วิเคราะห์ถึง “กระแสตกต่ำ” ของ “กล่องสุ่ม” ในระยะหลัง ๆ จากปัญหา “ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้” หรือ “ด้อยคุณภาพ”…

และ รศ.ดร.สมชาย ยังสะท้อนเรื่องนี้อีกว่า… แม้กระแสนิยมกล่องสุ่มกับคนไทยก็ยังคงมีอยู่พอสมควร แต่สินค้าในกล่องสุ่มระยะหลังเริ่มสร้างปัญหาให้ผู้ซื้อไม่น้อย ปัจจุบันตลาดกล่องสุ่มมีทั้ง “ตัวจริง-ตัวปลอม” เกิดกรณี “ถูกต้มซื้อกล่องสุ่ม” อยู่เนือง ๆ…จากการที่ “มีปัจจัยสำคัญ” ที่เป็น “ตัวกระตุ้น” ให้ตัดสินใจซื้อกล่องสุ่ม ทั้งที่ก็รู้ว่า กล่องสุ่มมีความเสี่ยง

“จากการที่เราเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 มา บวกกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการหลอกลวงจากกรณีกล่องสุ่มมากขึ้น ยิ่งยุคนี้เป็นยุคโซเชียล การหลอกลวงก็ทำได้ง่ายขึ้น จึงทำให้มีเหยื่อหลงเชื่อจำนวนมาก เพราะคนมีโอกาสถูกยั่วใจและถูกหลอกได้ง่ายขึ้น” …รศ.ดร.สมชาย ระบุ

พร้อมวิเคราะห์ว่า… สาเหตุที่ในไทย  มีเหยื่อถูกตุ๋นกล่องสุ่มเยอะ นั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่องการ “ชอบเสี่ยง-ชอบลุ้น” ซึ่งกล่องสุ่มนั้น ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบการ “เสี่ยงโชค” ทำให้ผู้จำหน่ายกล่องสุ่มจึงนำความ “อยากรู้-อยากลอง” มาใช้เป็น “แรงกระตุ้น” ทำให้คนอยากลุ้นอยากลองตัดสินใจซื้อกล่องสุ่ม ทั้ง ๆ ที่ผู้ซื้อไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าด้านในเลย

“ก่อนตัดสินใจซื้อ ผู้ซื้อควรมีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงก่อน อย่าหลงเชื่อตามที่ผู้ขายโฆษณาง่าย ๆ เพื่อไม่ให้โดนหลอก และหลักที่ควรคำนึงถึงที่สุดคือ ดูว่าราคากล่องสุ่มกับราคาของสินค้าที่โฆษณาไว้นั้น สมเหตุสมผล หรือเป็นไปได้จริงหรือไม่ ก็น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้ในระดับหนึ่ง” …ทาง รศ.ดร.สมชาย แนะนำไว้

ก็สะท้อนเตือนไว้เพื่อไม่ให้ “เป็นเหยื่อ”

เลี่ยง “ติดกับดักกล่องสุ่ม!!” มิจฉาชีพ         

ไม่ “เปิดกล่องแล้วหงายหลังผลึ่ง!!”.