เมื่อวัน 9 มี.ค. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พ.ต.อ.คำภีร์ พรหมสนธิ รอง ผบก.สอท.3 สั่งการให้ พ.ต.อ.พงศ์นรินทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.ศราวุธ เดชศรี รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯบก.สอท.3, พ.ต.ท.นราภพ นวลเท่า สว.กก.วิเคราะห์ บก.สอท.3 นำกำลังจับกุมนายวิทยา (สงวนนามสกุล) อายุ 50 ปี และ น.ส.ชรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 49 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดนครราชสีมา ที่ 33-34/2566 ลงวันที่ 20 ม.ค. 66 ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” โดยจับกุมได้ที่ จ.สระแก้ว
พล.ต.ต.สถิตย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ถูกคนร้ายหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน Shope 888 หรือ shope888 โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งวิธีคือการลงทุนสั่งซื้อสินค้าผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนด ซึ่งช่วงแรกๆ ได้ผลตอบแทนคืนเล็กน้อย ต่อมาเมื่อลงทุนเยอะๆ ไม่สามารถถอนเงินออกจากระบบได้ และทางผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อได้อีก เชื่อว่าถูกหลอกลวง จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ คิดเป็นความเสียหาย 939,695 บาท
ต่อมาทางชุดสืบสวนได้ทำการตรวจสอบพบว่า มีการโอนเงินไปยังบัญชีของ น.ส.ชรินทร์ และนายวิทยา จากนั้นได้กระจายไปยังบัญชีของบุคคลหนึ่ง จึงได้รวบรวมหลักฐานทำการออกหมายจับ ก่อนจะพบว่าทั้งสองได้มากบดานที่ จ.สระแก้ว จึงนำกำลังจับกุม โดยจับกุม น.ส.ชรินทร์ ได้ที่ อ.วัฒนานคร และนายวิทยา จับกุมได้ที่ อ.อรัญประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนผู้ต้องหารับว่า มีผู้ว่าจ้างให้เปิดบัญชี จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.สอท.3 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พล.ต.ต.สถิตย์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา พบผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพชักชวนหลอกลวงให้ทำงาน หรือทำภารกิจออนไลน์ เพื่อหารายได้เสริมต่างๆ อาทิ การหลอกลวงให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok เป็นต้น หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรงให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยในช่วงแรกจะได้เงินคืนมาเล็กน้อย แต่หลังจากนั้น มิจฉาชีพจะให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับภารกิจ
“ทั้งนี้ผู้เสียหายมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็หลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง มิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ เช่น อ้างว่าทำผิดขั้นตอน หรือยอดเงินในระบบไม่เพียงพอ เป็นค่าเอกสาร ค่าปิดบัญชี ค่าภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าตนได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง ก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น Shopee, Lazada เป็นต้น หากมีข้อมูลสงสัย ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 ได้ตลอด 24 ชม.” ผบก.สอท.3 กล่าว