ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่บ้านเลขที่ 188 หมู่ 1 ต.หนองไผ่ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ มีหญิงสาวที่เรียนจบปริญญาตรี เอกวิชาเคมี ไปทำงานบริษัทที่กรุงเทพฯ มากว่า 13 ปี แล้วลาออกหวนกลับมาบ้านเกิด เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในพื้นที่ราว 1 ไร่ กับพ่อแม่ ได้เพียง 2 ปี ก็ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยง แหนแดง สามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหารไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ ได้ประมาณถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และขายทางออนไลน์ในราคา กก.ละ 100 บาท กลับกลายเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้งาม สวนกระแสโควิด-19 เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 500-600 บาท ส่งผลให้พัฒนาชุมชน อ.หนองไผ่ ได้เข้ามาให้การสนับสนุนเรื่องสัมมาชีพชุมชน จนได้รับรางวัลชนะเลิศ “ครัวเรือนสัมมาชีพตัวอย่าง” ของ จ.เพชรบูรณ์ ประจำปี 2564
จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบนางนิตยา แดงสวัสดิ์ หรือติ๊ก อายุ 39 ปี อดีตพนักงานบริษัทสาวที่ทำงานแต่ในออฟฟิศ ปัจจุบันได้กลายเป็นเกษตรกรแบบเต็มตัว กำลังต้อนรับลูกค้าที่เดินทางมาซื้อแหนแดง ในโรงเรือนเพาะเลี้ยงที่ต่อเติมไว้ที่ข้างๆ บ้าน กันอย่างไม่ขาดสาย
นางนิตยา เปิดเผยว่า ครอบครัวตนมีอาชีพเป็นเกษตรกร การนำแหนแดงสายพันธุ์ไมโครฟิลล่ามาเลี้ยง ครั้งแรกคิดแต่เพียงว่า จะลดต้นทุนค่าอาหารไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ เพื่อเก็บไข่ขาย และจากการที่ตนได้ศึกษาจากอินเทอร์เน็ตและทางยูทูบ จึงได้รู้ว่า แหนแดงมีโปรตีนที่สูง จึงลองนำมาเลี้ยง ปรากฏว่าสามารถลดต้นทุนค่าอาหารไก่ไข่ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และไม่คิดเลยว่าการเลี้ยงแหนแดงจะเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ถึงวันละ 500-600 บาทต่อวัน โดยหลังจากที่ตนโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก ในราคา กก.ละ 100 บาท ก็มีลูกค้าทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดสนใจ สั่งซื้อทางออนไลน์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ตนเตรียมขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงเพิ่มเติม และแนะนำให้และเพื่อนบ้านที่เป็นเกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยง ส่วนตนจะช่วยในด้านการตลาด เพื่อเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน
นางนิตยา เผยต่อว่า การเพาะเลี้ยงแหนแดงก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพียงทำโครงสร้างบ่อเพาะเลี้ยงจากไม้ไผ่ ซึ่งหาได้ง่ายในหมู่บ้าน ชุมชน พลาสติกก็หาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพง แล้วใส่น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ความสูงประมาณ 15-20 ซม. นำน้ำหมักขี้วัวเติมลงไปพอประมาณ แล้วตามด้วยจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เพื่อให้เป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของแหนแดง หลังจากนั้นก็ปล่อยแหนแดงลงไปในวันเดียวกัน ภายในหนึ่งอาทิตย์ แหนแดงที่ปล่อยลงไป 1 กก. จะขยายเต็มบ่อ และสองอาทิตย์ต่อมาจะโตเต็มที่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปขายสร้างรายได้ รวมทั้งนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อไปได้เรื่อยๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ สวนกระแสโควิด-19