เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ เมื่อทราบข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการจัดผังของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ทำงานจนเสียชีวิตคาโต๊ะ..ยิ่งงานสื่อ เป็นงานที่ไม่เป็นเวลา มีตัวแปรที่สำคัญคือ “เหตุการณ์เกิดด่วนกะทันหัน” ผู้สื่อข่าวมีโอกาสโดนเรียกไปหน้างานเวลาไหนก็ได้ อาทิ เกิดเหตุบุกจับอาชญากรตัวกลั่นกลางดึก อย่างน้อยต้องมีนักข่าวเวรวิ่งไปหน้างาน ..ยิ่งเป็นคดีใหญ่ ก็ต้องมีคนพร้อมปรับผังรายการ โยนโน่นออก โยกนี่เข้าด่วน ยิ่งพวกทีวีต้องยิ่งได้ภาพ หรือเปิดหน้าสดรายงานเอง

งานข่าวจึงเป็นงานประเภท “ใจรัก” มาก ๆ เพราะมีโอกาสเบียดบังชีวิตส่วนตัวสูง… แต่บางคนก็ชอบด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป บางคนอยากเป็นนักข่าว เพราะชอบการแสวงหาข้อเท็จจริง การได้เห็นความจริงรอบด้าน การได้รายงานจนถึงวิพากษ์สังคมหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ..บางคนก็ชอบงานข่าว เพราะเป็นงานที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เจอใครใหม่ ๆ บ่อย ๆ หรือชอบการได้ออกพื้นที่  …หรือกระทั่งบางคนก็มองงานข่าวว่า เป็น “งานไต่เต้า” คือมาเพื่อหาคอนเนคชั่นจากคน หรือองค์กรต่างๆ ที่ได้พบเจอ แล้วเมื่อถึงเวลา ก็ใช้คอนเนกชั่นตรงนั้นเปลี่ยนงาน ..มันก็มีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าของคนอยากทำงานข่าว แต่คนทำงานเบื้องหลังนี่ก็ไม่ได้สนุกไปกับคนในสนามเท่าไรนัก

การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ผังรายการกลายเป็นที่อื้ออึงกันในอินเทอร์เน็ต มีการยกกรณีในญี่ปุ่นมาเปรียบเทียบว่า มีคนทำงานหนักพักผ่อนเดือนละสองวันจนตายคางานมาแล้ว เรื่องนี้ถึงหู นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน รมว.เฮ้ง บอกว่า เรื่องนี้จะต้องมีการเข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์ เบื้องต้นต้องดูว่าระหว่างเสียชีวิตเป็นการเข้ากะทำงานหรือไม่ สามารถใช้เงินกองทุนทดแทนชดเชยได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานไม่สามารถรู้ได้ว่าบริษัท สถานประกอบการใดมีการใช้แรงงานหนักหรือไม่อย่างไร หากไม่มีการร้องเรียนเข้ามา  หากมี ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ก็พร้อมที่จะเข้าไปตรวจสอบ สำหรับกรณีนี้ลูกจ้างเสียชีวิตไปแล้ว ญาติ หรือเพื่อนร่วมงานสามารถเป็นปากเป็นเสียงแทน เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบพยานหลักฐานได้ และจะได้มีการพิจารณาเงินกองทุนชดเชยการทำงานด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นเรื่องรับปากหาคนมาช่วยงานแต่ไม่เป็นไปตามที่คุย รมว.เฮ้ง ตอบว่า  หากเป็นเรื่องที่นายจ้าง กับลูกจ้างตกกันคนนอกจะรู้ได้ต่อเมื่อมีผู้เสียหายร้องเข้ามา ซึ่งกรณีอย่างนี้ต้องไปดูว่าเขาเคยร้องเรียนมาที่ กสร.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กสร.ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ที่ไหนมีการเอาเปรียบลูกจ้างหากไม่มีการร้องเรียน หากรุกเข้าไปสอบเอง อาจเกิดกรณีลูกจ้างห่วงตกงาน เลยอาจไม่มีใครยอมให้ข้อมูล หรือให้ความร่วมมือ

การทำงานที่มีความสุขเป็นอย่างไร? ลองฟังจากหลายๆ คน เขาก็บอกว่า “ต้องเป็นงานที่รัก” แม้ว่าจะไม่เป็นเวลาก็ไม่เป็นไร นักข่าวภาคสนามบางคนอยู่พื้นที่มาเกือบ 30 ปีก็มี เพราะรักจะออกไปพบปะผู้คน หาข่าวตรงจากแหล่งข่าวมากกว่านั่งเป็นหัวหน้าข่าว หรือผู้ช่วยบรรณาธิการนั่งสั่งข่าวอยู่ข้างใน ถามว่า “แล้วพักผ่อนพอเหรอ ?” คำตอบคือทำงานที่รักมันไม่เหนื่อย ช่วงไหนแหล่งข่าวยังไม่ลงมาให้สัมภาษณ์  หรือช่วงว่างไม่ต้องเดินหาข่าวก็นั่งคุยกับเพื่อนนักข่าวแลกเปลี่ยนความเห็นโน่นนี่ไป …กลับบ้านอ่านหนังสือ  จะพักผ่อนแบบไปต่างจังหวัด ก็อย่างเวลาแหล่งข่าวพาลงพื้นที่เสร็จจากงานก็มีเวลาส่วนตัวเที่ยวกันได้ในหมู่นักข่าว

ส่วนบางคนที่อยากเอาเวลาไปใช้ชีวิตมากกว่าทำงาน เขาก็มีตัวเลือกของเขา เช่น การเป็นฟรีแลนซ์ หรือเลือกงานที่เวลาเข้าออกงานตายตัวเพื่อวางแผนจะไปทำอะไรที่ชอบได้โดยไม่มีอะไรขัดขวาง ..เท่าที่ฟัง ๆ หลาย ๆ คน การเอาเปรียบที่พนักงานต่างไม่ชอบที่สุด คือ “การสั่งงานไม่เป็นเวลา” คือบางทีเวลาพักผ่อน หรือจะนอนแล้ว มีไลน์เด้งมาสั่งงาน จะเอาโน่นจะเอานี่… จนกระทั่งมีข่าวว่า บางประเทศหรือบางองค์กรต้องมีกฎห้ามสั่งงานพนักงานในเวลาส่วนตัว เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อกันและกัน (แต่งานข่าวนั้นโอกาสถูกสั่งไม่เป็นเวลาเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ไม่คาดฝัน)

และที่เกลียดสูสีหรืออาจมากกว่า คือ “ผู้ร่วมงานเป็นพิษ” หรือทำงานกับคนประเภท toxic people แบบนิสัยไม่น่าเข้าใกล้ …บางคนว่าจะยิ่งเซ็งมากขึ้น ถ้าคนพวกนี้ประจบนายใหญ่เก่งแล้วได้เลื่อนขั้นเร็ว มาอยู่ระดับสั่งงานทั้งที่ตัวเองไม่ได้เก่ง ไม่ได้ดีเด่อะไรเลย อาศัยแอ๊คท่าให้นายเห็นว่ากูตั้งใจทำงาน นายเดินผ่านจะเล่นท่าใหญ่โชว์ทันที… ไปไหนมาไหนกลับมามีของมาฝากนาย นายพูดอะไรก็ทำตัวนายว่าขี้ข้าพลอย ไม่ขัดไม่แย้ง เห็นดีเห็นงาม ..คนพวกนี้โตมาในบริษัทไหนเรียกว่าไม่มีสุขกันทั้งบริษัท

ถ้าเป็นคนระดับเดียวกัน ที่เกลียดมากๆ ก็มีประเภท อาทิ “เดอะเกาะ” เป็นตัวไร้ประโยชน์ของทีม แบบมีไว้ก็เท่านั้น แต่ผลงานออกมาจะเอาความดีความชอบเท่า… “เดอะเกาะ” นี่ก็เหมือนเวลานักเรียนทำรายงานกลุ่มส่งครู มันก็จะมีอยู่คนหนึ่งที่ลงทุน ลงแรงน้อยที่สุด อาศัยได้หน้าไปด้วย ซึ่งเราต่างก็ไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบ

ยังมีประเภท “เดอะถ่วง” คือนอกจากจะไม่ช่วยแล้วจะยิ่งทำให้คนอื่นทำงานยากขึ้นอีก เช่น ต้องมีเหตุให้ทำงานไม่เป็น ทำงานผิดพลาดมา หรือผิดพลาดบ่อย ๆ แล้วหัวหน้าหรือเพื่อนต้องมาตามล้างตามเช็ดให้ทีหลัง ขณะที่ เดอะถ่วง ก็แค่ขอบคุณแล้วไปเป็นภาระเรื่องอื่นต่อ ..บางที เดอะถ่วง จะนิ่งเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อนเมื่อมีเหตุให้ต้องใช้คน ..แม้ว่า เดอะถ่วง จะทำได้ก็ตาม สุดท้ายก็ตกเป็นหน้าที่ของ “เดอะแบก” คือคนที่พร้อมรับทุกงานและไม่มีปากเสียง

“เดอะแบก” ทำงานไป แต่ไม่มีปากเสียง ก็จะเจอพวก “เดอะงับ” หาทางเคลมเป็นผลงานตัวเองหน้าตาเฉย …สมมุติแล้วกัน อย่างเช่น “เดอะแบก” ไปทำข่าวชิ้นหนึ่งด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง แต่เดอะแบกดันเป็นประเภทปิดทองหลังพระทำดีไม่พูด ก็จะเจอ เดอะงับ เคลมผลงานกับหัวหน้า บอกว่า เป็นคนสั่งงาน หรือสั่งประเด็นนี้เอง หรือเลือกชูประเด็นนี้เป็นประเด็นข่าวใหญ่เอง ทั้งที่พวกเดอะงับเพิ่งมารู้เรื่องเอาตอนข่าวดัง แต่ต้องรีบชิงเอาความดีความชอบไปก่อน

มีคนฝากบอกมาว่า ให้แถมพวก “ลูกป้อน” เข้าไปด้วย ..ลูกป้อน หมายถึง ลูกนกที่มันหากินเองไม่ได้ต้องให้พ่อนกแม่นกคาบอาหารมาส่งถึงปาก บางพันธุ์พ่อนกแม่นกต้องเคี้ยวให้ด้วย พวกลูกป้อนที่ว่า คือ ประเภทคิดอะไรไม่เป็น สอนอะไรไม่จำ ต้องสั่งแบบแทบจะจับมือให้ทำ ซึ่งมันเสียเวลาคนทำงาน ..แต่ก็ขึ้นอยู่กับนิสัย ไม้ดัดได้คนก็ดัดได้ ลูกป้อนบางคนถ้าได้ผู้สอนดี ๆ ใจเย็น ๆ จับทางถูกก็อาจทำงานเก่งก็ได้

Free photo business people working together

ที่ทำให้ คนทำงานท้อใจมากที่สุด คือ “เดอะเมิน” ซึ่งมักจะเป็นหัวหน้า ที่บางทีไม่ค่อยเห็นความดีคนทำงาน แต่ไปเห็นความดีคนประเภทเอาหน้า ประจบ ออเซาะ ตอแหล ไปจนถึงทำตัวเป็นเครื่องจับผิด ทำตัวเป็น “ผู้ตรวจราชการ” ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีหน้าที่นั้น แล้วคาบเรื่องคนอื่นมาฟ้องหัวหน้าแบบอ้างว่า “รักษาผลประโยชน์ขององค์กร” ใครเป็นพวกไม่มีปากเสียงก็จะต้องเจอ เดอะเมิน นี่แหละ แล้วโดนพวกสอพลอไปปั่นหัวหัวหน้าว่า สิ่งที่พวก เดอะแบก เสนอมาไม่เห็นมีความจำเป็น เราต้อง cut fat ขององค์กรออก ฯลฯ ..ที่เขาท้อเดอะเมินมาก เพราะควรจะเป็นคนที่ให้ความเป็นธรรมมากที่สุด แต่ถ้าดันไม่เห็นสิ่งที่ควรเห็น ฟังสิ่งที่ไม่ควรฟัง ก็ทำคนในองค์กรไม่มีความสุข                 

Toxic people ในองค์กรมีตั้งหลายประเภท แต่ที่สำคัญคือ คนเป็น “เดอะแบก” ไม่ควรต้องแบก ต้องเก็บ มันหมดยุคปิดทองหลังพระแล้ว คนเราต้องเอาเครดิต ต้องมีปากเสียง รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ..สังคมเดี๋ยวนี้มันพาราสาวัตถี ใครไม่มีปรานีใคร ..เยอะแยะ เมื่อไรที่คุณยอม ก็ต้องยอมตลอดไป เพราะอาจมีปากต่อปากว่าเอาเปรียบคุณได้ง่าย

อยู่ในองค์กรให้มีความสุข ต้องมีปากเสียงดังพอ รักษาผลประโยชน์ของตัวเองเป็น

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”