แก้ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เพิ่มการเข้าถึงบริการ และรองรับสังคมผู้สูงวัยโรคระบาด รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะยาว หรือผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบต่อเนื่องไม่ต้องลำบากในการเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อย ๆ ก็ยังสามารถติดตามการรักษาได้ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลได้

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในส่วนของ “กรมการแพทย์” เองก็ได้ปรับการให้บริการของโรงพยาบาลในสังกัด 3 แห่ง คือ สถาบันผิวหนังโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) สถาบันทรวงอก ที่นำระบบให้คำปรึกษาทางไกล (Tele-Health) มาบริการให้คำปรึกษาในการคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา ความผิดปกติของปอด และโรคผิวหนัง การดูแลสุขภาพ อำนวยความสะดวกในการสื่อสารด้วยการส่งสัญญาณเสียงและภาพ ซึ่งช่วยลดการเดินทางและความแออัดในโรงพยาบาล โดย กสทช. สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในการตรวจร่างกาย ระบบการสื่อสาร

“ในช่วงปี 2563 ขณะที่ประเทศไทยเกิดการระบาดโควิด-19 กรมการแพทย์ได้นำระบบการรักษาแบบวิดีโอคอลมาใช้โดยผู้ป่วยสมัครใจรับบริการและรับยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระหน้างาน เพื่อทุ่มเททรัพยากรในการดูแลรักษาผู้ป่วยใน โดยผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้สมาร์ทโฟนในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ ส่งผลให้สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลลงได้กว่า 30%”

ต่อมาปี 2564-2565 ได้นำระบบการแพทย์ทางไกล (DMS Telemedicine) มาให้บริการแก่ผู้ป่วยทดแทนระบบ Video Call ในการตรวจรักษา วินิจฉัย ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย รวมถึงการส่งยาให้กับผู้ป่วยที่บ้านทางไปรษณีย์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แม่นยำ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทาง

ปัจจุบันโรงพยาบาลและสถาบันสังกัดกรมการแพทย์มีการพัฒนาเป็นระบบการแพทย์ทางไกลแล้ว 30 แห่ง เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข และอยู่ระหว่างพัฒนาขยายขีดความสามารถของระบบให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ IOT เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเชื่อมโยงจัดเก็บข้อมูลประวัติสุขภาพพื้นฐาน ความดัน ชีพจร เพื่อใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองได้ในเบื้องต้น รองรับการเชื่อมโยงระบบเพื่อยืนยันตัวตนและระบบการชำระเงินผ่านทางแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และยังมีแผนการขยายขีดความสามารถ ให้รองรับการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่ซับซ้อนในลักษณะของสหสาขาวิชาถือเป็นการแบ่งปันทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขในการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้กรมการแพทย์ยังจัดทำระบบประวัติสุขภาพส่วนตัว (Personal Health Record) ของผู้ป่วย เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตนเองรวมถึงใช้เป็นข้อมูลประวัติส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาล เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนด้านการบริการระบบสุขภาพให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้สะดวกมากขึ้น.

อภิวรรณ เสาเวียง