แต่ก็ต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิดว่าเชื้อโควิดจะมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชกลายพันธุ์สร้างความยุ่งยากให้ชาวโลกอีกหรือไม่ พร้อม ๆ กับการเฝ้าระวังโรคติดต่ออื่น ๆ ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ หลังจากได้รับอานิสงส์จากการควบคุมโรคโควิด–19 จนโรคอื่น ๆ อ่อนกำลังไม่เกิดการระบาดตามไปด้วย

ดังนั้นในปี 2566 จึงเป็นปีที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตามสูตร “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ทางกรมควบคุมโรคจึงได้มีการ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ” ประจำปี 2566 เป็นหลักให้ทุกคนใช้เพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบข้าง โดย “นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค” เปิดเผยถึงการพยากรณ์โรคในปี 2566 ว่ามี 4 กลุ่มโรค หลัก ๆ ที่ยังต้องให้ความสนใจ คือ “โรคติดต่อทางเดินหายใจ-โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน–โรคติดต่อทางเดินอาหาร-โรคติดต่อนำโดยยุง”

มาว่ากันที่กลุ่มแรกคือ “โรคทางเดินหายใจ” ซึ่งปกติเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายช่วงหน้าหนาว ซึ่งจะมีทั้งโรคที่เกิดจาก “เชื้อไวรัส” แน่นอนว่า “โรคโควิด-19” ก็จะยังเป็นโรคที่เป็นขาขึ้น จะเห็นผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีราว ม.ค.-ก.พ. เป็นไปตามสถานการณ์ของโลก ทั่วโลกเป็นอย่างไรก็ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไปด้วย เพราะปัจจุบันมีการเปิดประเทศให้คนเดินทางได้ และประเทศไทยก็เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ย่อมได้รับผลกระทบเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคติดต่อที่เข้ามาจากต่างประเทศ

อีกโรคหนึ่งคือ “ไข้หวัดใหญ่” ซึ่งพบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะซีกโลกเหนือ อเมริกา ยุโรป ที่จะมีการระบาดใหญ่ทุกปี เพียงแต่ช่วง 2 ปีเศษ ๆ ที่ผ่านมา คนเดินทางลดลงเพราะโรคโควิด ทำให้ไข้หวัดใหญ่ระบาดลดลงไปด้วย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้เมื่อมีการเดินทางมากขึ้น มีกิจกรรมต่าง ๆ จำนวนมากก็จะทำให้ไข้หวัดใหญ่กลับมาระบาดได้ 2 ช่วงคือ ช่วงต้นปีและกลางปี ซึ่งเป็นฤดูฝน ราว ๆ มิ.ย.–ส.ค.

ถ้าถามว่าเมื่อไหร่ที่เราจะพ้นจากโควิด-19 เข้าสู่ภาวะปกติจริง ๆ …“ให้หมดรอบนี้แล้ว รอบหน้า ฤดูฝนเราคงจะรณรงค์แบบเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่คือการฉีดวัคซีนโควิดในคนกลุ่มเสี่ยง ก่อนมีการระบาดในฤดูฝน ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. เพราะเป็นช่วงที่ปกติจะมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในไทย วันนี้เราเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบคงไม่ปิดอะไรแล้ว

ดังนั้นหากในช่วง 3 เดือน คือ ธ.ค. 2565 ต่อเนื่องไปจน ก.พ. 2566 แล้วสถานการณ์ดีขึ้น ประเทศเราจะเริ่มเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ แต่ไม่อยากให้คนไทยมีพฤติกรรมกลับไปเหมือนช่วงก่อนการระบาดของโควิด ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เราเสียโอกาสพัฒนาหลายอย่าง หากเราระมัดระวังป้องกันมากขึ้น เมื่อเริ่มป่วย วินิจฉัยตัวเองได้เร็ว เช่น มีอาการไข้ทางเดินหายใจตรวจ ATK รู้ตัวป้องกันตนเองไม่ให้ป่วยหนักได้ และไม่ไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยการสวมหน้ากากอนามัย นี่คือสิ่งที่อยากให้คงอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยต่อเนื่อง เพราะได้ประโยชน์กับทุกคน สร้างความปลอดภัย”

มาที่กลุ่มที่ 2 “โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน” ปีนี้อาจจะมาแรง เพราะทุกปีเราจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเด็กมีความครอบคลุมากกว่า 90% มาตลอด แต่พอช่วงโควิด-19 มีการปิดโรงเรียนบ้าง มีการจำกัดการเดินทางบ้าง บางช่วงโรงพยาบาลให้บริการโรคโควิดเป็นหลัก ทำให้การฉีดวัคซีนในเด็กลดลงในช่วง 2 ปี ซึ่งเป็นสถานการณ์แบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งในไทยมีโอกาสที่โรคหัด–คอตีบ-ไอกรน จะกลับมาระบาดได้อีก

โดยเฉพาะ “หัด” เพราะเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดได้ง่าย แต่ “วัคซีนหัด” ที่ต้องให้ในเด็กอายุ9 เดือน และขวบครึ่ง มีความครอบคลุมลดลงตํ่ากว่า 90% อาจจะทำให้โรคหัดกลับมาระบาดอีกครั้งในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนตํ่า โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจากเดิมแม้ไม่มีโรคระบาด ความครอบคลุมของวัคซีนก็ตํ่าอยู่ที่ 60-70% พอมีโควิดระบาด ความครอบคลุมวัคซีนยิ่งต่ำลงไปอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงคือ 50-60% แถวปัตตานี นราธิวาส ยะลา และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ตามลำดับ

กลุ่มที่ 3 “โรคติดต่อทางเดินอาหาร” เช่น อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ซึ่งเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัส มักพบช่วงหน้าหนาว เช่น ไวรัสโรตา ไวรัสโนโร ดังนั้น ช่วงปีใหม่ที่มีการจัดเลี้ยงสังสรรค์จำนวนมาก จะมีโอกาสเกิดการระบาดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักพบในช่วงฤดูร้อน ดังนั้น แนวทางป้องกันจึงต้องรับประทานอาหารปรุงสุก ร้อน สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารค้างคืน เป็นต้น

และกลุ่มที่ 4 “โรคติดต่อนำโดยยุง” เช่น “ไข้เลือดออก” ที่นำโดยยุงลาย ซึ่งในปี 2565 ก็พบว่ามีรายงานผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา หลังจากที่เคยลดลงเมื่อช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะคนเดินทางไปต่างพื้นที่ลดลง แต่ในปี 2565 โรคกลับมาระบาดใหม่ มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าในปี 2566 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ได้อีก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2565

“การระบาดจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชนว่า จะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน เพราะไข้เลือดออกเป็นโรคที่อยู่กับพฤติกรรมของคน ถ้าเราดูแลไม่ให้มีลูกนํ้ายุงลายอย่างเต็มที่ด้วยความใส่ใจ จำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่ขึ้นเลย แต่หากเราปล่อยปละละเลย ไม่แจ้งเตือนภัยและร่วมมือกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกนํ้ายุงลาย รอจนระบาดเยอะแล้วค่อยมาจัดการจะช้าไปทำให้มีการระบาดรุนแรงได้ คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีการระบาดเพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 แต่อยู่ในระดับที่จัดการได้”

อีกหนึ่งโรคนำโดยยุงก้นปล่อง คือ “ไข้มาลาเรีย” ซึ่งเป็นโรคที่ประเทศไทยสามารถกำจัดไปได้มากแล้วในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เดิมมีผู้ป่วยปีละหลายหมื่นราย เหลือเพียง 2 พันรายในปี 2564 แต่มาปีนี้ (2565) ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ยังมีปัญหาโรคมาลาเรียระบาดอยู่ และแรงงานได้เริ่มเดินทางกลับเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น ก็ทำให้นำโรคเข้ามาด้วย โดยตัวเลขผู้ป่วยในปี 2565 เพิ่มขึ้น 4-5 เท่าของปีที่แล้วคือจำนวนเป็น 8-9 พันราย ดังนั้นในปี 2566 จึงคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มมากกว่านี้อีก เพราะการเดินทางเปิดมากขึ้น ทั้งการทำงาน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่แถบป่าเขาชายแดนฝั่งตะวันตกของไทย

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมควบคุมโรค ยํ้าว่า ทั้ง 4 กลุ่มโรคต่างมีวิธีป้องกันได้ เมื่อเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ และโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่ง “มาตรการใช้วัคซีน” เป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดี มีประสิทธิภาพสูง เมื่อใช้ร่วมกับมาตรการที่ไม่ใช่ยาและไม่ใช่วัคซีน คือ การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ได้แก่ เว้นระยะห่างล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรุนแรงของโรค ดังนั้น ขอให้ประชาชนรับวัคซีนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างสมํ่าเสมอ

ส่วนโรคติดต่อทางเดินอาหารก็ป้องกันได้ด้วยการระมัดระวังเรื่องอาหาร นํ้าดื่ม และนํ้าแข็ง ภาพรวมคือการตระหนัก หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ดูแลป้องกันไม่ให้เด็กเล็กรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก หรือทิ้งค้างไว้ ไม่ได้คุณภาพ หรือมีโอกาสปนเปื้อน ส่วนโรคติดต่อนำโดยแมลงอย่างโรคไข้เลือดออกก็กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันยุงกัด ส่วนมาลาเรียที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ต้องทา
ยากันยุงเมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วย นอนกางมุ้ง สวมเสื้อผ้ามิดชิด รวมทั้งศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่หรือมีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะได้เตรียมการป้องกันล่วงหน้า..

อภิวรรณ เสาเวียง