ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยสะท้อนไว้ หลังการถ่ายโอนเริ่มสตาร์ตตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 โดยได้ชี้ไว้ว่า… เรื่องนี้นอกจากบุคลากร รพ.สต. นอกจากบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง “ประชาชนคนไทยก็ต้องสนใจ-ต้องจับตา” โดยเฉพาะผู้ที่ต้องพึ่งพา “รพ.สต.”

นี่เป็นเรื่อง “บริการสุขภาพประชาชน”

โดยเฉพาะ “ประชาชนนอกเมืองใหญ่”

ทั้งนี้ เรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขดังกล่าวนี้…นัยว่าเป็นไปตามหลักการ “กระจายอำนาจ” เมื่อรับถ่ายโอนภารกิจแล้วทาง อบจ. จะเป็นฝ่ายบริหารจัดการต่าง ๆ ทั้งหมด ซึ่งเมื่อย้อนดูเรื่องนี้จากบางรายงานข่าวในช่วงปลายปีที่แล้ว โดยสรุปนั้นมีว่า… ณ วันที่ 26 ก.ย. 2565 จากจำนวน รพ.สต. ทั่วประเทศ 9,775 แห่งนั้น เบื้องต้นมี รพ.สต. ประสงค์จะถ่ายโอน 33.39% โดยมี รพ.สต. และรวมถึง สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ที่ประสงค์จะถ่ายโอน รวม 2 ส่วน 3,264 แห่ง รวมบุคลากร 21,829 คน ซึ่งมีทั้งที่เป็นข้าราชการ และการจ้างงานอื่น ๆ

ในจำนวนรวม 21,829 คนนี้ แบ่งเป็นข้าราชการ 11,992 คน เป็นการจ้างงานอื่น ๆ 9,837 คน และในจำนวน 21,829 คน แบ่งเป็นสายบริการทางการแพทย์ 13,034 คน สายสนับสนุนวิชาชีพและสายสนับสนุนงานบริหาร 8,795 คน โดย ในจำนวนรวม 3,264 แห่ง ที่ประสงค์จะถ่ายโอนนี้มีส่วนที่โอนย้ายบุคลากรทั้งหมดราว 75% โอนย้ายบุคลากรมากกว่าครึ่งราว 21% โอนย้ายบุคลากรน้อยกว่าครึ่งราว 2.4% และก็มีราว 1.13% ที่ไม่มีบุคลากรสมัครใจโอนย้าย ซึ่งจากรายงานข่าว… สำหรับบุคลากรที่ไม่พร้อมหรือมีข้อติดขัดในการโอนย้าย ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะยังให้การดูแลตามเดิม โดยกระบวนการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุขดังกล่าวนี้ ืคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณสนับสนุน 5,932 ล้านบาท

“แม้จะมีการถ่ายโอนภารกิจไปให้หน่วยงานของท้องถิ่น ประชาชนก็จะยังได้รับการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง-ตามปกติ” …นี่เป็นอีกบางส่วนจากรายงานข่าว จากการอ้างอิงการระบุจากทางกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็ได้มีการระบุไว้ด้วยว่า… ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนบุคลากร ทรัพย์สิน ภารกิจการบริการ และรวมถึงแก้ข้อติดขัดต่าง ๆ เพื่อที่จะให้กระบวนการถ่ายโอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากเรื่องนี้มีการเริ่มสตาร์ตตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 พอข้ามปี…ถึง 21 ม.ค. 2566 ก็มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏออกมา และก็เป็น “กระแสชวนงง??”

จากรายงานข่าว “สถานการณ์หลังถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อบจ.” ฝ่ายที่ให้ข่าวมีการอ้างอิงบุคลากรที่ “ต้องการย้ายกลับสังกัดสาธารณสุข” มีการระบุถึงสาเหตุประมาณว่า… มีบุคลากรไม่ชอบระบบ อบจ. ที่เป็นแบบการเมือง?? มีการระบุว่า สิทธิ-สวัสดิการ-ความมั่นคงก้าวหน้าของบุคลากร…ด้อยลง?? ขณะที่ภาระงานเพิ่มขึ้น…จากการที่บุคลากรไม่เพียงพอ?? และรายงานข่าวยังมีเนื้อหาส่วนที่ระบุว่า ระบบ อบจ. ไม่เอื้อต่อการทำงานของ รพ.สต. ทาง อบจ. ยังมีความไม่พร้อมในการรับถ่ายโอนภารกิจ?? อีกทั้งยังมีการระบุว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากระบบบริการสุขภาพที่แย่ลงจากเดิม?? อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็ได้มีการ “โต้จากฝ่าย อบจ.” เกี่ยวกับข่าวดังกล่าว ประมาณว่า “ไม่ตรงกับความเป็นจริง??” บุคลากรที่ไม่เห็นด้วยกับการโอนย้ายมีจำนวนน้อย-ไม่กี่เปอร์เซ็นต์?? ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ และจะให้เรื่องนี้เรียบร้อยชั่วข้ามคืนเป็นไปไม่ได้ พร้อมมีการยืนยันว่าแม้ อบจ. ไม่เก่งเรื่องนี้เหมือนสาธารณสุข แต่ก็ทำเพื่อประชาชน …นี่เป็น “กระแส 2 ด้านชวนงง??” ที่ต้องตามดูกันไป…

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อ 4 ต.ค. 2565 “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า… สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ตระหนักถึง ความ “กังวล” ทั้งของประชาชน และรวมถึงบุคลากรส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการ “ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อบจ. ดูแล” ซึ่งทาง ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ในฐานะรองผู้อำนวยการ สวรส. ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า… สวรส. จึงพยายามทำวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบให้ เพื่อให้การถ่ายโอนเกิดปัญหาและอุปสรรคน้อยที่สุด โดยมอบหมายให้ทีมวิจัยกว่า 10 ทีมทำวิจัยเพื่อหา แนวทางปฏิบัติ หรือ ข้อเสนอ เพื่อที่จะใช้แก้ไขปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ภายใต้กระบวนการถ่ายโอนนั้น “มีคำถาม??” เกิดขึ้นมาก ไม่ว่าจะเรื่อง… รูปแบบบริการ?, มาตรฐานบริการ?, กำลังคน-ค่าตอบแทน-สวัสดิการ? เป็นต้น และนอกจากนี้ก็ยังมีความกังวลว่าจะเกิด ช่องว่างในระบบ หรือไม่?? ซึ่งการถ่ายโอน รพ.สต. เข้าสังกัด อบจ. ก็ควร ต้องมีการจัดทำ “คู่มือแนบท้าย” ตามไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของระบบ…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากที่นักวิจัยเสนอไว้ และที่ยิ่งสำคัญ…ที่ ผศ.ดร.จรวยพร ระบุไว้ด้วยคือ… สวรส. มอบหมายให้นักวิจัยทำวิจัยในพื้นที่หลายจังหวัดเพื่อหาแนวทางดำเนินงานในแต่ละด้าน รวมถึงเพื่อจัดทำ ข้อเสนอเชิงนโยบาย “การจัดการในระยะเปลี่ยนผ่าน” โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อจะช่วยให้การปฏิบัตินั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเพื่อ “ป้องกันความสับสนจนทำให้เกิดปัญหาการให้บริการทางสุขภาพกับประชาชน”

เรื่องนี้ “ก็มีข้อเสนอวิธีป้องกันปัญหาไว้”

และ “อบจ. ก็ยืนยันทำเพื่อประชาชน”

ก็ “หวังว่ากระแสชวนงงจะไม่ยืดเยื้อ”

“ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบ??”.