ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ จ.สมุทรสงคราม แห่งนี้ มีนายปรีชา พุคคะบุตร อดีตกำนัน ต.แควอ้อม ซึ่งเป็นผู้ที่รักแมวเป็นชีวิตจิตใจโดยเฉพาะแมวไทย จึงเลี้ยงแมวในบ้านจำนวนมากมาตั้งแต่ตัวเองยังเล็ก ๆ กระทั่งมาปลูกบ้านเลขที่ 2/1 หมู่ 7 ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จึงเปิดบ้านเป็นศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยนายปรีชา มักจะพูดกับผู้ที่มาเยี่ยมเยือนศูนย์อนุรักษ์แมวไทยฯ อยู่บ่อย ๆ ว่า “เกรงว่าแมวไทยจะสูญพันธุ์ เพราะแมวไทยนั้นนอกจากจะดูน่ารักช่างประจบแล้ว ยังมีอุปนิสัยที่ชาญฉลาด รักอิสระ ซื่อสัตย์และรักเจ้าของ อีกทั้งมีสีสันสวยงามกว่าแมวของประเทศอื่น ๆ จนได้รับการยอมรับจากผู้ที่รักแมวทั่วไปว่า แมวไทยมีลักษณะสวยสง่างามที่สุดในโลก”

สำหรับแมวไทยโบราณนั้น ตามหลักฐานสมุดข่อยโบราณระบุว่ามีทั้งสิ้น 23 ชนิด แยกเป็นแมวมงคลนิยมนำมาเลี้ยงในบ้าน 17 ชนิดได้แก่ นิลรัตน์, วิลาศ, ศุภลักษณ์, เก้าแต้ม, มาเลศ, แซมเศวต, รัตนกัมพล, วิเชียรมาศ, นิลจักร, มุลิลา, กรอบแว่นหรืออานม้า, ปัดเศวตหรือปัดตลอด, กระจอก, สิงหเสพย์, การเวก, จตุบท และโกนจา ส่วนแมวร้ายที่ไม่นิยมนำมาเลี้ยงในบ้านมี 6 ชนิด ได้แก่ ทุพพลเพศ, พรรณพยัคฆ์, ปิศาจ, หินโทษ, กอบเพลิง และเหน็บเสนียด ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ส่วนแมวมงคลก็สูญหายไปแล้ว 13 ชนิด คงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ชมเพียงแค่ 4 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ วิเชียรมาศ, สีสวาด, ศุภลักษณ์ และโกนจา

โดยแมววิเชียรมาศนั้น ตามหลักฐานในสมุดข่อยโบราณระบุด้วยว่าเป็นแมวที่นำโชคลาภมาให้ และอดีตมีเลี้ยงแต่เฉพาะในพระราชสำนัก ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้เลี้ยง ลักษณะเด่นของแมววิเชียรมาศ คือ ตาสีฟ้าสดใส ขนลำตัวสีครีม มีแต้มสีเข้มที่เรียกว่า แต้มสีครั่งที่บริเวณหน้า, หูทั้งสองข้าง, ขาทั้งสี่, ปลายหาง, และที่อวัยวะเพศ รวม 9 ตำแหน่ง อีกชนิดหนึ่งคือแมวสีสวาด หรือแมวโคราช โบราณเรียกว่า แมวมาเลศ หรือแมวดอกเลา ที่เรียกว่าแมวโคราชก็เพราะเรียกตามถิ่นกำเนิด คือพบที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สมัยโบราณเชื่อกันว่าเป็นแมวแห่งโชคลาภเช่นกัน มีสีขนคล้ายสีเมฆ ตาสีเหลืองอมเขียวเปรียบประดุจข้าวกล้า จึงมักจะถูกใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนในสมัยโบราณ

อีกชนิดหนึ่งคือ แมวศุภลักษณ์ ปรากฏชื่อในสมุดข่อยโบราณ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แมวทองแดง เนื่องจากขนสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงเสมอกันทั้งตัว ตาสีเหลืองเป็นประกาย และสุดท้ายคือแมวโกนจา ปรากฏชื่อในสมุดข่อยโบราณ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แมวดำปลอด หรือดำมงคล เนื่องจากขนสีดำสนิททั้งตัวไม่มีสีอื่นแซม ตาสีเหลือง ดอกบวบ และเดินทอดเท้าเหมือนสิงโต คนโบราณเชื่อว่า แมวโกนจาเป็นแมวมงคลให้คุณกับผู้เลี้ยง

ส่วน แมวขาวมณี หรือแมวขาวปลอดนั้นนายปรีชาเคยบอกว่าไม่ใช่แมวไทยโบราณ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยที่รวบรวมลักษณะแมวมงคล 17 ชนิดไว้ โดยแมวขาวมณี รูปร่างขนาดกลาง ขนสีขาว สั้นอ่อนนุ่ม ศีรษะคล้ายรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่แบน โดยทั่วไปมี 3 ลักษณะคือ ตาสีฟ้าสองข้าง, ตาสีเหลืองสองข้าง และตาสองสีคือข้างหนึ่งสีฟ้าอีกข้างหนึ่งสีเหลือง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางโครโมโซม อย่างไรก็ตามแม้แมวขาวมณีจะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยว่าเป็นแมวไทยโบราณแต่ก็เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากของคนไทยเนื่องจากเป็นแมวที่เชื่องกับคนมาก จึงเหมาะกับการเลี้ยงไว้ดูเล่นในบ้านเช่นกัน

สำหรับศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ จ.สมุทรสงคราม แห่งนี้ หลังจาก นายปรีชา พุคคะบุตร ผู้ก่อตั้งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 เม.ย.61 ในวัย 81 ปี ด้วยโรคไข้หวัดและปอดติดเชื้อ ได้มีนางนันธญา พุคคะบุตร อายุ 57 ปี ลูกสาวนายปรีชา ดูแลสืบสานต่อ ปัจจุบันมีแมวไทยอยู่ในความดูแลประมาณ 140 ตัวต้องใช้เงินเป็นค่าอาหารวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท หรือเดือนละกว่า 30,000 บาท ไม่รวมค่ารักษาแมวป่วยซึ่งไม่แน่นอน นอกจากนี้การระบาดของโรคโควิด-19 เกือบ 3 ปี ได้ทำให้ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวจนทางศูนย์ฯ ประสบปัญหาเรื่องการเงินมาตลอด อีกทั้งช่วงนี้ยังมีทายาทแมวเกิดใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ผู้ใจบุญจะช่วยสนับสนุนอาหารแมวติดต่อได้ที่ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณฯโดยโอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทยเป็นค่าอาหารแมวก็ได้ เลขบัญชี 709-0-30364-0 ส่วนผู้ที่ชอบแมวไทยโบราณหากจะมาชมแต่มาไม่ถูกก็โทรศัพท์สอบถามได้ที่ 08-0590-4590 ทางศูนย์ฯ เปิดให้ชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยไม่มีวันหยุด.

มานพ จันทร์ฤทธิ์