เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จัดงานใหญ่ เปิดตัวบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัครสมาชิกพรรค ซึ่งข่าวว่า จะไม่เป็นกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เวลามีอันเป็นไปอะไรให้พรรคโดนยุบเข้า กก.บห. จะโดนตัดสิทธิ แต่พรรคการเมืองเดี๋ยวนี้ก็มีเล่ห์เหลี่ยมอะไรเยอะแยะ ใครดังๆ ตั้งเป็นประธานพรรค หัวหน้าครอบครัว นี่ก็มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเป็น “ซูเปอร์บอร์ด” คือบอร์ดที่อยู่เหนือ กก.บห.พรรค แนวๆ ตัดสินเรื่องใหญ่ๆ ที่ กก.บห.พรรค ตัดสินใจไม่ได้

ตำแหน่งอะไรบ้างที่เป็น กก.บห.พรรค? ก็หัวหน้าพรรค ซึ่งหลังๆ ดูจะเป็นหุ่นเชิดแทนหัวหน้าตัวจริงเสียหลายพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค นายทะเบียนพรรค เหรัญญิกพรรค โฆษกพรรค ..ซึ่งก็ช่างเถอะว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เขารอดูแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคกันมากกว่า

วันที่ 9 ม.ค. งานใหญ่มาก คนแห่กันไปล้นหลาม ก็ต้องยอมรับข้อหนึ่งว่า แฟนคลับบิ๊กตู่ก็มี ไม่ใช่คนจะเกลียดนายกฯ กันทั้งแผ่นดิน อย่างน้อยก็เป็น กลุ่มอนุรักษนิยมที่ค่อนข้างชอบการทำงานแบบบิ๊กตู่ และอีกกลุ่มหนึ่งก็คือพวกไม่ชอบขั้วเพื่อไทย ..ทั้งนี้ รทสช. ดึง ส.ส. ไปเข้าร่วมพรรคได้เยอะกว่าที่คาด บางคนก็ผูกขาดพื้นที่เก่ามานาน ก็ไม่แน่ว่า อาจได้ ส.ส.เขตบวกบัญชีรายชื่อเกิน 25 คน ซึ่งพอจะเสนอชื่อบิ๊กตู่เป็นนายกฯ ตามกฎหมายที่พรรคการเมืองต้องได้ ส.ส. ถึงร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดของสภา จึงจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ ได้

แต่ทั้งนี้ เลือกตั้งปี 62 ก็ “ปราบเซียน” ไปหลายเขตอยู่ จากการที่คนต้องการความเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่ง การเจาะพื้นที่อย่างหนัก (โดยเฉพาะภาคใต้) ทำให้มีกรณี “ล้มบ้านใหญ่” ได้หลายพื้นที่  ก็ไม่แน่ว่า กระแส “คนต้องการความเปลี่ยนแปลง” จะทำให้พวกที่คิดว่า “นอนมา” ต้องพับเสื่อกลับบ้านหรือไม่ ส่วนปาร์ตี้ลิสต์นั้น น่าจะได้คะแนนจากคนชอบบิ๊กตู่เป็นกอบเป็นกำอยู่ ถ้าเจ้าตัวยอมลงเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์แรก

มีข้อสงสัยที่หลายคนถาม แต่ไม่รู้จะตอบอย่างไรดี คือ “ป.ประยุทธ์ กับ ป.ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เขาแตกกันทำไม” ถึงขนาดมี ส.ส.ใต้พรรค พปชร. บางคนออกมาพูดทำนองว่า การที่บิ๊กตู่ชิงไปอยู่พรรคใหม่ นี่เหมือนกับเป็นการบั่นทอนคะแนนของพวกเดียวกัน .. ซึ่งปกติการที่คนอ้างว่ารู้จักสนิทสนม รักกันจะเป็นจะตายจะแยกกัน มันก็น่าจะเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์” หรือไม่ก็ “บ่างช่างยุ” ทำให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ..แนวๆ เราเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกันได้นะ แต่ถ้าเลือกจะคบคนนี้ ก็ขอสงวนความสัมพันธ์บางอย่างไว้

คำตอบที่ชัดเจนไม่มีออกมา วันนี้ 2 ป.ยังคงยืนยันรักกันแน่นเหนียว แต่บางครั้ง ความจริงก็เป็นเรื่องของเวลา ช่วงเลือกตั้ง เวลาหาเสียงคงมีการสาดโคลนกันบ้าง ยิ่งถ้า รทสช. ดูดคนจาก พปชร. ไปได้เยอะ พวกยังจงรักภักดีกับ พปชร. ก็คงฝังแค้นรออาฆาตไว้ ..อย่างที่บอกคือ การที่บิ๊กตู่ออกมา มันทำให้ พปชร. อ่อนแอ (เผลอๆ ถ้ากลุ่มสามมิตรออกไปอยู่ด้วย หรือไปเพื่อไทย กลุ่มปากน้ำ ออกไปด้วย พปชร. ยิ่งเละ) พอแค้นก็หาเสียงแบบสาดโคลนคู่แข่งตามธรรมดาโลก

ปัดวัดพลังทางการเมือง-“ประยุทธ์”แจงลงพื้นที่ชน“ประวิตร”

อย่างไรก็ตาม บิ๊กตู่จะไปไหน ก็ไม่เป็นที่สนใจเท่า “สูตรจัดตั้งรัฐบาลหน้า” ว่า พรรคไหนจะจับมือกับพรรคไหน หลายคนก็ใจร้อนอยากรู้เร็วๆ ซึ่งตอนนี้ โพลหลายสำนักก็มี เพื่อไทยนอนมาว่าจะได้ ส.ส.มากที่สุด คราวนี้ต้องได้ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย เพราะแก้ระบบเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแล้ว ไม่ใช่เลือกตั้งปี 62 ทีดันได้ ส.ส.เขต เกินจำนวน ส.ส.พึงมี ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย แล้วเพื่อไทยก็ย้ำคำ “แลนด์สไลด์” ให้ติดหู ซึ่งเป็นกลยุทธ์การสื่อสารหนึ่งที่ใช้คำจำ

ว่ากันว่า เป้าหมายของเพื่อไทยคือได้ ส.ส. เกิน 250 คน เพื่อเอาแค่พรรคขนาดกลางหรือพรรคขนาดเล็ก อย่างชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า เสรีรวมไทย มารวมเสียงให้ได้ถึง 300 ซึ่งแค่นี้ ส.ว.ก็บ้อท่า ถ้ายังจะดึงดันเลือกขั้วที่มีเสียงข้างน้อยเป็นนายกฯ ก็เหมือนทิ้งขี้ไว้ให้ประชาชน เพราะ ส.ว.ชุดนี้ ก็จะหมดอำนาจแล้ว เป็นชุดเฉพาะกาลเพื่อ “ทำปฏิรูป” เท่านั้น (แล้วดูเอาเถิดว่าปฏิรูปนี่เรียกว่าสำเร็จไหม) ถ้า ส.ว.เลือกแบบนั้น กลายเป็นสภาที่รัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อย เป็ดง่อยบริหารงานไม่ได้  เผลอๆ แค่ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ยังไม่ได้ ยุบสภาได้เลย…และถ้าเป็นเสียงข้างน้อยหรือเสียงปริ่ม ก็แน่นอน จ่ายค่ากล้วยกันมหาศาล ..เผลอๆ ก็บีบให้ข้าราชการนั่นแหละหาเงินให้

พื้นที่เหนือกับอีสานตอนบนนั้น เพื่อไทยได้เปรียบเต็มประตู และมีจำนวน ส.ส.มากด้วย  ส่วน รทสช. น่าจะพลิกมาเป็นพรรค “คู่ตรงข้าม” หลักของเพื่อไทย (ไม่อยากใช้คำว่าคู่แข่ง เพราะ รทสช. ก็เป็นแค่พรรคที่เพิ่งตั้งไข่) ต้องรอดูการเปิดนโยบายว้าวๆ ถึงจะมีบิ๊กตู่เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ต้องมีอะไรที่แสดงถึงความเป็น “รุ่นใหม่” ให้น่าเลือก มีบุคลิกบางอย่างดึงดูด อย่าหวังกินบุญ ส.ส.เก่า… ตัวอย่างจากพรรคอนาคตใหม่ตอนปี 62 ก็สำแดงชัดมาแล้วว่า “พรรคหน้าใหม่แต่เปิดตัวมีอุดมการณ์ มีความหลากหลาย และมีลูกเล่น (เช่นเรื่องฟ้ารักพ่อ)” ก็ทุบพรรคใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน ภูมิใจไทยบุกรุกคืบพื้นที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสจะได้ ส.ส. มากกว่าเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอยู่ ถ้าไม่มี “ตัวแปร” ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่ชอบ ว่า เป็นพรรคที่ดูด ส.ส. เมื่อดูดมาก็อารมณ์ประมาณว่า “รวมพวกไม่มีอุดมการณ์” ในช่วงที่บิ๊กตู่พักงาน เพราะรอศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีหรือไม่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็เข้าพบบ่อย จึงเป็นที่น่าคิดว่า “ถ้าภูมิใจไทยรวมเสียงได้เกินร้อย แล้ว รทสช. รวมเสียงได้เกือบๆ ร้อย (ใช้คำว่า ‘ถ้า’) ก็ไปทาบทามพรรคอื่นสวิงเสียงให้รวมได้เกิน 250 เสียง เอาเสียง ส.ว. ช่วยโหวต ทั้งนี้ ต้องรวมเสียง พปชร. เข้าไปด้วย เพราะ ส.ว. ฝั่งหนึ่งก็สายบิ๊กป้อม

อนุทิน' ตอกกลับ 'ฝ่ายค้าน' อภิปรายข้อมูลเก่า-ทำใบเสร็จวัคซีนเอง  ยันโปร่งใส-เปิดเผยได้ | เดลินิวส์

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเลือดไหลออกบ่อยๆ นั้น ดูเหมือนจะรู้แล้วว่า “ต้องเป็นรัฐบาลถึงจะทำผลงานและสร้างคะแนนนิยมได้” ได้ ส.ส. เท่าไร ก็พร้อมจะสวิงไปร่วมกับพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล ..อย่าคิดว่าประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยรวมกันไม่ได้ การเมืองคุยกันได้หมดถ้าผลประโยชน์ถึงกัน ..เพื่อไทยเอง เผลอๆ ก็อาจจับมือกับ พปชร. ซึ่งดูท่าทีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ไม่ได้แข็งใส่บิ๊กป้อมมากเท่าบิ๊กตู่ ..หลังๆ มีข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย จะกลับเข้ามามีบทบาทใน พปชร. อีก เผลอๆ ร.อ.ธรรมนัส ก็เป็นตัวดีลเอา พปชร. จับมือเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ซึ่งเพื่อไทยก็คงจะต้องการเสียง ส.ว. โหวตนายกฯ ส่วนหนึ่ง ก็อาจรับดีล พปชร.

ภูมิใจไทยก็เป็นพรรคที่อยากเป็นรัฐบาล ถ้าเพื่อไทยเป็นต่อมากในการเลือกตั้ง เผลอๆ ก็จับมือภูมิใจไทยและก้าวไกลซะเลย (รวมกับพรรคเล็กที่รอสวิงเสียง ดูข้อเสนอของแต่ละฝ่ายอีกส่วนหนึ่ง)  เพื่อให้ได้เสียง ส.ส. เกิน 376 เสียง ขุดหลุมฝังเสียง ส.ว. แนวๆ ประชาชนไม่ได้เลือกตั้งมาก็อย่ามาร่วมเลือกนายกฯ .. พปชร. ก็จับมือเพื่อไทยได้ ที่สุดแล้วก็ถีบ รทสช. ไปเป็นฝ่ายค้าน หรือไม่ก็ ถีบออกทั้ง พปชร.และ รทสช. นั่นแหละ ซึ่งถ้าต้องเป็นฝ่ายค้าน บิ๊กตู่คงเลิกเล่นการเมือง

พูดกันง่ายๆ คือ ต้องมีขั้วไหนได้คะแนนเกิน 200 เสียง แล้วจะมีพรรคขนาดกลางหรือเล็กเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้เพื่อไทยดูเหมือนเขาค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้ ส.ส. เกิน 200 แน่ อาจถึง 250 หรือมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่แน่ว่า “ผีทักษิณ” ยังจะตามหลอกหลอนอยู่ จนคนกลัวจะเกิดความขัดแย้งไม่รู้จบ แล้วคะแนนจะสวิงไปที่ก้าวไกลเยอะจนไม่เข้าเป้าหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา การทำหน้าที่งานสภาของพรรคก้าวไกลก็ดี ตรวจสอบอะไรก็เป็นที่ฮือฮา เป็นพรรคที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และได้ใจคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวเรื่องกระแสสิทธิมนุษยชน

แต่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศ จะไม่จับมือกับ “พรรคทหาร” ก็คือ พปชร. กับ รทสช. นั่นแหละ ..เพื่อไทยจะจับขั้วกับก้าวไกลได้หรือไม่? มันมี “ชุดอุดมการณ์” ของกองเชียร์ที่ต่างกันอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงกลุ่มอำนาจ หรืออาจเกิดปรากฏการณ์กลัวทั้งผีทักษิณ ผี คสช. ก้าวไกลขึ้นมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล ก็เลือกพรรคร่วมได้

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กำลังยืน และ ข้อความ

ตอนนี้มันคงเร็วไปที่จะพูดถึงสูตรจัดตั้งรัฐบาล มันเห็นชัดจริงๆ ตอนผลเลือกตั้งออกโน่น ว่า ใครจะวิ่งหาใคร แต่ที่แน่ๆ คือช่วงหาเสียง แต่ละพรรคทำอย่างไรให้คนอยากเลือกแล้วกัน โดยเฉพาะ รทสช. จะชูจุดขายอะไรนอกจาก ความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดีของผู้นำ, พปชร. จะทำอย่างไรในสภาพพรรคแตก แล้วยังจะชูบิ๊กป้อมเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวเสียอีก ..เพื่อไทย ก้าวไกล ภูมิใจไทย นั้น บุคลิกในการหาเสียงเขาค่อนข้างชัดแล้ว ส่วนประชาธิปัตย์ยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งในพรรค ส.ส. ทยอยออก อยู่ที่ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ให้น่าสนใจ

ช่วงนี้ก็คงมีอะไรเป็นสีสัน ไปจนถึงสำคัญๆ ออกมารายวันแล้ว สำหรับการเมืองไทย.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”