จากกรณีเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 7 ต่อเนื่องวันที่ (8 ม.ค.) ที่ผ่านมา เกิดเหตุรถยนต์หรูยี่ห้อเบนท์ลีย์ ของนายทุนบริษัทใหญ่ 7 แห่งและเป็นนายทุนพรรคการเมืองใหญ่ ขับซิ่งแซงซ้ายพุ่งชนรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ ปาเจโร ที่มีผู้โดยสารมากันทั้งครอบครัว รวม 6 คน จนเกิดรถหมุนพลิกคว่ำบาดเจ็บทั้งคันรถ ซ้ำมีรถดับเพลิงอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยมัสยิดฮารูณ จำนวน 2 ราย ขับพุ่งชน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บรวม 4 ราย และภายหลัง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกผลการตรวจสอบเลือดของผู้ขับขี่รถยนต์เบนท์ลีย์ พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
-รอดคุก!ผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด “เสี่ยเบนท์ลีย์” ไม่ถึง 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ภายหลังจากที่ผลตรวจของทาง “เบนท์ลีย์” ออกมา ทำให้ในโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยหนึ่งในนั้นคือ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และหัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “จากข่าวนี้ ที่ตำรวจไม่ได้ให้เป่าลมหายใจตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือดของคนขับรถ แต่ส่งไปให้แพทย์เจาะเลือดส่งตรวจแทน”
จริงๆ พอยอมรับได้นะครับกับการให้เจาะเลือด แต่ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ด้วย ว่า “แอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ป่วยจะหายไปทุกๆ ชั่วโมงที่ผ่านไป” ดังนั้นผลเเอลกอฮอล์ในเลือด ณ เวลาที่เจาะ จะใช้ไม่ได้ ต้องส่งให้แพทย์นิติเวชทำการคำนวณหาแอลกอฮอล์ในเลือด ณ เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ “นอกจากนี้ต้องส่งคนขับรถไปเจาะตรวจเลือดให้เร็วที่สุด ถ้ามีการประวิงเวลาในการตรวจ เท่ากับเป็นการปฏิเสธการตรวจได้เลย”
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผมเห็นมานานว่า ในไทยทางตำรวจไม่ค่อยมีการส่งให้แพทย์ทำการคำนวณย้อนกลับกัน ทั้งๆ ที่ต่างประเทศทำกันเป็นเรื่องปกติ หรือในไทยบริษัทประกันชีวิตก็มีการให้คำนวณแบบนี้แล้ว นอกจากนี้ บางทียังมีการส่งคนขับรถไปโรงพยาบาลให้เจาะเลือดช้า บางทีที่เคยเจอคือ ไม่กำหนดให้ไปเจาะเลยทันที ให้ไปตอนเช้าอีกวันเลยก็มี ซึ่งแบบนี้แทบไม่มีความหมายเลยครับ
นอกจากนี้ ในการเลือกให้เป่าลมหายใจตรวจแอลกอฮอล์ หรือเจาะเลือด ตามกฎหมายระบุว่า ให้ตรวจจากการเป่าลมหายใจก่อน ถ้าไม่สามารถทดสอบได้ จึงตรวจจากเลือด ดังนั้นไม่ควรอ้างว่าตรวจจากเลือดแปลผลดีกว่า แล้วไม่ตรวจลมหายใจ ทั้งๆ ที่คนขับรถสบายดี เพราะผิดหลักกฎหมาย และการตรวจช้าลงก็ได้ผลที่ถูกต้องช้าลงด้วย ป.ล. หากเคสนี้ไม่มีการคำนวณย้อนกลับ สามารถเชิญผมไปเป็นพยานเพื่อช่วยในการคำนวณได้นะครับ..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Smith Fa Srisont