ผู้พัฒนา : Glitch Pitch
ประเภท : Business Sim
แพลตฟอร์ม : PC, Mac, Linux
ราคา : 289 บาท (STEAM)

    หลังการปรากฏตัวของ BNK48 เมื่อ 4 ปีก่อน วัฒนธรรมไอดอลก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับสังคมไทยอีกต่อไป แม้ปัจจุบันจะมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังงง ๆ กับวงไอดอลว่ามันคืออะไร? โดยเฉพาะเหล่าผู้ปกครองทั้งหลายที่มีบุตรหลานเป็นเด็กผู้หญิงน่ารัก ๆ ที่มีความฝันอยากจะเป็น “ไอดอล” แต่ถ้าคุณได้ทดลองเล่นเกม Idol Manager ก็จะเข้าใจในเรื่องราวของวงการไอดอลแบบหยั่งรากลึกกันเลยทีเดียว เพราะเกมนี้จะเปิดเผยแทบทุกแง่มุมของวงการไอดอล ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่โด่งดังระดับประเทศจนถึงระดับโลก หรือล้มเหลว ธุรกิจล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว แถมมีหนี้ก้อนใหญ่ รวมทั้งได้รับรู้ถึงแง่มุมทั้งสว่างสดใสและดำมืดของวงการนี้

    Idol Manager เป็นเกมจำลองธุรกิจไอดอล ที่ให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็น “ผู้จัดการวงไอดอล” ส่วนจะมีกี่วงนั้น ก็แล้วแต่เราเลย แต่มันก็อยู่ที่ความสามารถของเราด้วย บางคนอาจมีแค่วงเดียวก็จะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว แต่บางคนธุรกิจรุ่งสุด ๆ บริษัทใหญ่โตจนอาจมีวงไอดอลเป็นสิบวงก็ได้

    สำหรับคนที่เป็น “โอตะ” หรือมีความชื่นชอบในวัฒนธรรมไอดอลอยู่แล้ว โดยเฉพาะไอดอลญี่ปุ่น การคลำทางเล่นเกมนี้ คงไม่ได้ยากเกินไป ใช้เวลาสัก 1-2 วัน หากจับจุดถูกก็รุ่งกันยาว ๆ แต่กับบางคนก็แทบจะประสาทเสียกับเกมนี้ เพราะเล่นยังไงก็ล้มละลาย เป็นหนี้เป็นสินไม่จบไม่สิ้น

    แต่ถ้าคุณได้อ่านรีวิวนี้จนถึงตอนท้าย คุณจะไม่มีวันเจ๊งอีกต่อไป เพราะ “ฮันส์แบ๊ก” จะชี้ทางสว่างให้กับคุณเอง

    เราไปดูถึงสิ่งที่ต้องทำกันก่อนในการสร้างวงไอดอล เปิดเกมมาเราจะได้รับการอนุเคราะห์จาก “ฟูจิโมโต้ซัง” ยกตึกให้ใช้ฟรี ๆ 1 ชั้นแบบไม่คิดค่าเช่า พร้อมเงินอีกก้อนหนึ่ง เพราะเขาจะหวังผลกำไรจากเราในอนาคต เริ่มต้นเราก็ต้องสร้างออฟฟิศของเรา จ้างพนักงานฝ่ายต่าง ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหางาน, ครูสอนเต้น, ครูสอนร้องเพลง, คุณหมอ, ช่างแต่งหน้าทำผม จากนั้นก็เปิดออดิชั่นหาเด็กสาวที่มีความสามารถ หน้าตาน่ารักสะสวย เข้ามาเป็นไอดอลในสังกัด ซึ่งตัวเกมจะใช้ระบบกาชาปอง เราก็ต้องลุ้นเอาเองว่าจะได้เด็กแบบไหน บางคนเพอร์เฟกต์ บางคนเก่งแต่ปัญหาเยอะ บางคนไม่เก่งแต่พัฒนาได้ บางคนเก่งมากแต่ร่างกายอ่อนแอ ก็ต้องลุ้นกันไป ฯลฯ พอได้เด็กมาจำนวนหนึ่ง เราก็เริ่มหางานให้ไอดอลทำ เพื่อจะได้มีรายได้เข้าสู่บริษัท ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายแฟชั่น, ถ่ายโฆษณา, เล่นหนังเล่นละคร, ออกรายการต่าง ๆ, ออกซิงเกิ้ล ขาย CD, จัดคอนเสิร์ต, จัดงานจับมือ, จัดงานเลือกตั้ง, ทัวร์ต่างประเทศ, สร้างเธียเตอร์, สร้างคาเฟ่ หากรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็สบายใจได้ว่าธุรกิจรอดแน่นอน แต่ผู้เล่นมือใหม่ส่วนใหญ่ รายจ่ายมักมากกว่ารายรับ

    อุปสรรคที่เกมจัดหนักรอเราอยู่ ก็คือรายจ่ายเรื่องเงินเดือนพนักงานและไอดอล รวมทั้งการขยายกิจการที่ตึก 1 ชั้นพื้นที่ไม่พอ ก็ต้องเช่าตึกชั้นอื่น ๆ เพิ่ม ที่ต้องเสียค่าเช่า ไหนจะค่าก่อสร้างอีก รวม ๆ กันแล้วต่อเดือน ถือว่าเยอะมาก หากรายได้น้อยกว่ารายจ่าย รับรองว่าหายนะมาเยือนแน่นอน แม้เกมจะมีตัวช่วยให้เราสามารถไปกู้เงินจากฟูจิโมโต้ได้ รวมถึงกู้เงินจากธนาคารด้วย แต่ดอกเบี้ยโหดมาก รายได้ที่เข้ามาแค่เอาไปจ่ายดอกเบี้ยก็อ๊วกแตกแล้ว เพราะฉะนั้น จงจำเอาไว้เลยว่า ถ้าได้เริ่มกู้เมื่อไหร่ โอกาสเจ๊งสูงมาก

    แต่ถ้าเรามีฝีมือสามารถหารายได้มากกว่ารายจ่าย เราก็เริ่มได้ลิ้มรสชาติการเป็นผู้จัดการวงไอดอลที่แท้ทรูในทิศทางอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการทำธุรกิจ เพราะตัวเกมจะจัดอุปสรรคต่าง ๆ เข้ามาทดสอบความสามารถของเรา ไม่ว่าจะเป็นข่าวฉาวของเด็ก ๆ ในวง, เด็กประพฤติตัวไม่เหมาะสม, มีข่าวกับผู้ชาย, เสื้อผ้าหรือตัวเพลงมีปัญหา, ไอดอลตัวท็อปที่กำลังดังขอจบการศึกษาจากวง, ไอดอลบาดเจ็บ ป่วย ถูกบูลลี่จนเป็นโรคซึมเศร้า หรือเหนื่อยมากจนทำงานไม่ไหว ฯลฯ โดยเราต้องคอยตามแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่มีวันจบสิ้น หากแก้ปัญหาได้ถูกจุดธุรกิจก็ไปต่อได้ แต่ถ้าแก้ปัญหาผิดพลาด ธุรกิจอาจเจ๊งได้เลย

ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่เกมใส่เข้ามา ซึ่งมันดึงดูดผู้เล่นได้อย่างมาก ถือเป็นนิพพานของเหล่าโอตะ ก็คือการที่ผู้จัดการวงไอดอลสามารถจีบไอดอลในวงได้ จีบดี ๆ ได้เป็นแฟน จนถึงขั้นแต่งงานได้เป็นภรรยา ใครอยากเล่นทางนี้ก็จัดไปอย่าให้เสีย

    ถือเป็นเกมที่เล่นได้เรื่อย ๆ เพราะมีอะไรให้ต้องทำเยอะมาก แต่มันเป็นการวนลูปซ้ำ ๆ ใครที่ไม่ได้ชื่นชอบไอดอลจริง ๆ เล่นไปพักใหญ่ ๆ อาจเบื่อได้ และเป็นเกมที่สูบเวลาสุด ๆ เล่นแป๊บ ๆ เวลาผ่านไป 4-5 ชั่วโมงแล้ว ต้องควบคุมตัวเองและควบคุมเวลาการเล่นให้ดี

    ทิ้งทายรีวิวกันด้วยเคล็ดลับการเล่นที่ไม่มีวันเจ๊ง เริ่มต้นมาให้เราสร้างแค่ออฟฟิศของเรา กับออฟฟิศของพนักงานหางาน 2 คนก่อนในชั้นฟรี จากนั้นออดิชั่นไอดอลแบบใช้เงินถูกสุดสัก 3 ครั้ง เพื่อกาชาปองให้ได้ไอดอลที่่มีพลังเยอะ ๆ ได้ไอดอลสัก 3-8 คน ก็ไปลดเงินเดือนให้เหลือพันเดียวก่อน ต่อด้วยเริ่มปลดล็อคงานถ่ายแฟชั่น แล้วเริ่มหางานหาเงินได้เลย พยายามเพิ่มฐานแฟนคลับให้มาก ๆ พอรายได้เริ่มเข้าต่อเนื่อง ไม่ติดลบ ก็สร้างห้องซ้อมเต้นกับห้องอัดเสียง เพื่อทำเพลงออกซิงเกิ้ลขาย CD ควบคู่ไปกับการทำรายการทางวิทยุและอินเทอร์เน็ต พอรายรับเริ่มอยู่ตัว ก็ทำคอนเสิร์ต เพิ่มยูนิตทำวงใหม่ จัดงานจับมือ ทัวร์ต่างประเทศต่อไป รายได้เริ่มเป็นกอบกำก็ออดิชั่นไอดอลเพิ่ม จากนั้นก็เดินหน้าเต็มตัว ค่อย ๆ ปลดล็อกเกมไปเรื่อย ๆ จนถึงสร้างเธียเตอร์และคาเฟ่ ขยายธุรกิจไอดอลให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีวงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นหนึ่งในตองอูต่อไป.

ฮันส์แบ๊ก
[email protected]