เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดี ปภ. เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 ม.ค. 66 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 478 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 465 คน ผู้เสียชีวิต 66 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.03 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 33.26 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 88.02 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 79.50 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.49 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 32.22 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01-01.00 น. ร้อยละ 15.69 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 23.54 มีการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,887 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 55,851 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 401,164 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 59,862 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 16,696 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 16,070 ราย ขับรถเร็วเกินกำหนด 7,109 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา 27 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา 31 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สระแก้ว สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 4 ราย
“สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ 29 ธ.ค.65-1 ม.ค. 66 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,664 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,647 คน ผู้เสียชีวิตรวม 218 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 10 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี 56 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สกลนคร 57 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 12 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 10 จังหวัด” นายบุญธรรม กล่าว
นายบุญธรรม กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นวันหยุดวันสุดท้ายของช่วงเทศกาลปีใหม่เส้นทางขากลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ จะมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ซึ่งการสังสรรค์เฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่อาจทำให้ผู้ขับขี่มีอาการอ่อนล้า ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน ศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดเข้มข้นจุดตรวจโดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมสู่ถนนสายหลัก-สายรองที่ประชาชนใช้เป็นทางลัดและทางเลี่ยงเมืองซึ่งผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วสูง พร้อมเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจยานพาหนะและรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง เพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เน้นดูแลจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน รวมถึงประสานการเปิดช่องทางพิเศษเพื่อเร่งระบายรถและจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณจุดตัดเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น.