ถ้าใครอ่านบทความนี้ อยากให้เปิดเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา” ฟังไปด้วยเพื่อให้เลี่ยนได้อรรถรส (หรือเปล่า?) มากขึ้น ..ว่า ผ่านมาจะแปดปีแล้ว ตกลงว่า “สัญญา” ที่ว่าคืออะไร? วันนี้ชักจะงงๆ เหมือนกันว่า ถ้าสัญญาคือการปฏิรูป ตกลงวันนี้ได้มีการปฏิรูปอะไรไปบ้างแล้ว “อย่างมีนัยสำคัญที่รู้สึกได้” คือความรู้สึกอยู่ดีกินดี ความรู้สึกถึงความเท่าเทียมกันในสังคมในด้านต่างๆ ทั้งในแง่ฐานะที่ไม่ใช่รวยเท่า พวกเจ้าของกิจการ, นายทุนหรอก แต่ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ได้รับรัฐสวัสดิการที่ดี หรือความรู้สึกเท่าเทียมในเรื่องการถูกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ความรู้สึกถึงความโปร่งใสของภาครัฐ

เราก็เห็น “พิธีกรรม” ในการทำปฏิรูปของ คสช.คือ ตั้ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในช่วงแรกๆ ที่เป็นรัฐบาล คสช. แต่ก็..แล้วไงต่อ? สุดท้ายใครจำได้บ้างว่าสองหน่วยงานนั้นทำอะไรนอกจากทำรายงาน แล้วรายงานก็เหมือนเดิม คือทำเสร็จโยนเข้าลิ้นชัก.. มีแค่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พยายามจะเป็นข่าวอยู่บ้างเกี่ยวกับการออกกฎหมายได้เร็ว (แน่นอนเพราะเป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน) แล้วก็มีการยกร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลต้องรายงานผลการปฏิรูปต่อวุฒิสภา

คณะรักษาความสงบเเห่งชาติ คสช

ตั้งแต่ตอนตั้ง สนช., สปช., สปท. ไปจนถึงวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดนี้ ก็ปรากฏว่าเป็นเครือข่ายพวกพ้องน้องพี่ทหารแก่กันเสียเยอะ พ่วงกับพวก “คนดีที่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง”อีกจำนวนหนึ่ง แค่พิธีกรรมภาพแรกก็ถูกครหาได้ง่ายๆ ว่า “มีการเอื้อพวกพ้อง” ใช่หรือไม่? ถ้าการเข้ามาด้วยระบบที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่แรก แล้วคิดว่าอะไรจะมีความเป็นธรรมต่อไป? คำครหานี้ถูกพูดไปถึงการคัดเลือกคนขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คุณให้โทษทางการเมือง ว่า “ก็เลือกคนของ คสช.เข้ามาทำหน้าที่” ซึ่งอันนี้ก็ให้ดูกันเองแล้วกัน ในส่วนของ 3 องค์กรคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นอย่างไร

ส่วนเรื่องการปฏิรูปการเมืองนั้น.. ก็บอกได้แค่ว่า “มีกฎหมายที่มีโทษแรงขึ้นสำหรับผู้ทุจริต” แต่มันไม่ได้สร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่อะไร แถมดูจะเละกว่าเดิม จากข่าวที่ว่า ส.ส.ย้ายพรรค, ขายตัวกันเป็นว่าเล่น..ส.ส.บางคนก็ดูมีปัญหาภายในพรรคจริงๆ จำเป็นต้องย้าย อย่างกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ ลือกันหึ่งว่า คณะผู้บริหารชุดนี้ “เอาแต่กลุ่มพวกตัวเอง” ทำให้คนที่อยู่มาก่อนอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะในชั้นการเลือกผู้สมัคร ส.ส. มีความขัดแย้งกันมากว่าทำไมคนเก่าไม่มีสิทธิลง แต่พรรคกลับเลือกทำโพล ตัวอย่างเช่นกรณีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง หลายสมัย เลขานุการประธานรัฐสภา ก็อัปเปหิตัวเองออกจากพรรคไปเพราะถูกอ้างว่า คะแนนเสียงไม่ดี จะไม่ส่งลงเขต

แต่อย่าง ส.ส.ที่ย้ายพรรคหลายคน ตามที่เป็นข่าวก็ดูอารมณ์แบบ “ดูมีพิรุธนะ” ว่าได้รับค่าตอบแทน หรือที่สมัยนี้เรียกว่า “ค่ากล้วย” ไปเท่าไร? อย่างที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตในส่วนของคนที่ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยว่า “จะไปทำไมเมื่อพรรคเพื่อไทยกระแสดี?” บางคนก็ชี้แจงได้อย่างนายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ที่บอกว่า พรรคระแวงว่า เขาจะไปอยู่กับพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตามน้องชายคือ นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น เลยไม่ส่งลง ส.ส.สมัยหน้า นายจักรพรรดิจึงจำเป็นต้องย้ายพรรค ส่วนคนอื่นๆ นั้นก็แล้วแต่จะชี้แจงประชาชนในพื้นที่อย่างไร

ก็กลายเป็นจุดให้พรรคเพื่อไทยโจมตีได้ว่า งูเห่าเหล่านั้นเป็น ส.ส.ที่ทิ้งอุดมการณ์  (ส่วนจะไปพูดกันถึงขั้นขายตัวหรือเปล่านี่ไม่แน่ใจ) เพราะฉะนั้น ถือว่าหักหลังประชาชน จะกลายเป็นประเด็นหาเสียงในพื้นที่งูเห่าของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง นพ.ชลน่าน ประกาศกร้าวแล้วว่า จะเป็นพื้นที่ที่สู้อย่างเข้มข้นเพื่อรักษาเก้าอี้ให้พรรค

เพื่อไทย

ข้างฝ่าย พลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ไม่รู้ว่า อยู่ๆ 2 ป. เขาแตกกันเพราะอะไร? อยู่ๆ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กั๊กท่าทีแต่ค่อนข้างเอนเองไปว่าจะไปอยู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งก็ถูกมองอีกล่ะว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อ ..ใครได้เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา คือ “รู้กัน” ว่าปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งของพรรคอันดับหนึ่งจะได้เป็นนายกฯ แต่มารัฐธรรมนูญนี้ เลือกตั้งเสร็จ ให้แต่ละพรรคที่ได้ ส.ส. เกิน 5% ของจำนวน ส.ส.ในสภา คือ 25 คนเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้

ถ้าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ ก็มีความน่าจะเป็น ว่า หลังเลือกตั้งมีการ “วิ่งกันฝุ่นตลบ” แค่ไหนให้โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จนได้เสียงข้างมาก ซึ่งโอกาสเสียงปริ่มสูง ก็จะมีปัญหาในการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรอีก คือฝ่ายค้านจะเล่นเกม “คนรักษาองค์ประชุมคือรัฐบาล” ฝ่ายค้านจะเป็นองค์ประชุมให้ในกรณีโหวตกฎหมายที่ฝ่ายค้านเห็นด้วยเท่านั้น..ตรงนี้จะใช้เป็นจุดไปฟ้องประชาชนว่า “ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่” ก็ไม่รู้มีน้ำหนักแค่ไหนในตอนหาเสียง..แถมฝ่ายค้านย้อนศรให้อีกว่า ถ้าให้บิ๊กตู่เป็นนายกฯ ต่อก็อยู่ได้อีกแค่ 2 ปี แล้วมาโหวตนายกฯ ใหม่ (ซึ่งตอนนั้น ส.ว.ชุดที่แต่งตั้งจากบทเฉพาะกาลหมดหน้าที่แล้ว เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกนายกฯ) ช่วงนั้นก็มีโอกาสการเมืองวุ่นวายอีก

พรรคไหนได้ ส.ส.มาก แล้วขั้ว คสช.จะเอาเสียงมาจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่รู้ว่าจะมีการ “ตบทรัพย์” กันหรือไม่? เพราะถ้าอยากเป็นรัฐบาล อะไรก็ต้องยอมเขา อย่างตอนที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ มีข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็น “ดีลเมคเกอร์” ดึงกลุ่ม นายเนวิน ชิดชอบ ออกมาจากพรรคพลังประชาชน ให้โหวตเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ผลคือ พรรคภูมิใจไทยได้กระทรวงสำคัญๆ ไปทั้งมหาดไทย พาณิชย์ คมนาคม  

อนุทิน

เรื่องนี้กลายเป็น ชนวนของม็อบเสื้อแดง เรียกร้องให้ยุบสภา..ทำนองว่า พรรคที่เป็นเสียงข้างมากแต่แรกไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นพรรคพลังประชาชนที่กลายร่างเป็นเพื่อไทยต่างหาก..แล้วลองคิดดูว่า จะมีการ “ปลุกม็อบ” ขึ้นมาได้อีกหรือไม่ ถ้าคราวนี้พรรคเสียงข้างมากไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล โดยฝ่ายปลุกม็อบอ้างว่า “กติกาไม่เป็นธรรม” ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวจะเกิดขึ้นอยู่ อาจมีวาทกรรม “ชอบด้วยกฎหมาย” คือก็มาตามรัฐธรรมนูญในฐานะพรรครวมเสียงได้ กับอีกฝ่ายจะอ้าง “ความชอบธรรม” คือเป็นพรรคเสียงข้างมากทำไมจึงต่อรองไม่ได้

ก็ไม่แน่ว่าถ้าเสียงขาดหนักๆ เลือกตั้งเที่ยวหน้า อาจเกิด การซื้อขายงูเห่ากันระดับหน้างาน คือไปฉกมาจากพรรคขั้วตรงข้ามเลย แลกเสียงให้โหวตเลือกให้ขั้วอำนาจปัจจุบันเป็นรัฐบาล การเมือง..อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าผลประโยชน์มันถึงกัน

ขณะนี้กระแสความต้องการการเปลี่ยนแปลงสูง โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่โทษรัฐบาลทำเศรษฐกิจพังก็ไม่ถูกทั้งหมด เนื่องจากภาวะโควิดระบาดทำให้เศรษฐกิจประเทศชะงักไปร่วมสองปี ต้องมีเงินกู้แบบให้เปล่ามาช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งไม่ได้ทำงาน ทั้งกิจการเดินต่อไปไม่ได้..ซึ่งภาวะเศรษฐกิจซบเซาก็ยังมีอยู่ในขณะนี้ โจทย์ของรัฐบาลหน้าจึงเน้นเรื่องการที่ทำให้เศรษฐกิจดี และเพื่อไทยก็เสนอโมเดล..น่าจะเรียกว่า “สำเร็จรูป” คือ เรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท ซึ่งฟังแล้วมันดู “เห็นเป็นตัวเงินที่ได้รับ” แต่คราวนี้เพื่อไทยแทงกั๊กขยักไว้ก่อนว่า “ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน โอกาสที่จะได้ 600 บาทนั้น อาจได้ในปี 2570” ขณะที่รัฐบาลก็แก้เกมว่า ถ้าเป็นแรงงานเฉพาะทาง แรงงานทักษะวิชาชีพตามตลาดต้องการ ก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันมากกว่านั้นอยู่แล้ว

ด้านการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้น..เท่าที่เห็นแนวๆ “เกือบสำเร็จ” คือการเกิดของพรรคอนาคตใหม่ ที่รวบรวมกลุ่มหลากหลายไว้ทำงานเฉพาะด้าน อย่างกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงาน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และมีโมเดลเพื่อการปฏิรูปการเมืองออกมาอย่างเช่น เรื่องการกระจายอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำ แต่ที่ว่า “เกือบสำเร็จ” คือพรรคการเมืองแนวนี้เกิดได้ ได้รับเสียงตอบรับดี แต่ปัญหาคือเมื่อเป็นฝ่ายค้านจะทำอะไรก็ติดขัดลำบากไปหมด ทำให้การเมืองก็ยังย่ำอยู่กับรูปแบบเก่าๆ คือพึ่งบ้านใหญ่ แย่งฐานเสียง ต่อรองผลประโยชน์ หรือรักษาผลประโยชน์ให้นายทุน

ที่น่าสนใจคือ การเกิดพรรคเล็กบางพรรคที่มีจุดยืนชัดเจนจะผลักดันนโยบายเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่เห็นด้วย อย่างเช่น พรรคพลังท้องถิ่นไท ที่มีแนวคิดเรื่องการผลักดันเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ หรือศูนย์ความบันเทิงครบวงจร (หรือกาสิโน) เพื่อหารายได้เข้าประเทศ และเอารายได้ไปช่วยกลุ่มด้อยโอกาสที่มีปัญหาเรื่องการหารายได้ เช่น กลุ่มแม่ลูกอ่อน กลุ่มคนชรา กลุ่มนักเรียนนักศึกษา..หรือ พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย ที่จะเข้ามาทำเรื่องปัญหาป่าไม้ (ในขณะนี้ พรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา ก็ดูจะเอานโยบายสิ่งแวดล้อมมาเป็นจุดแข็งของพรรคให้ชัดเจนมากขึ้น)  

อย่างไรก็ตาม ไอ้ที่ย้ายๆ พรรคกันนั้น คิดว่าตัวเองจะสอบได้สักกี่คน? บ้านใหญ่ก็สอบตกได้เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่ทำเซอร์ไพร้ส์ไปหลายเขตเลือกตั้ง เที่ยวนี้คนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ให้โอกาสคนใหม่ กลุ่มใหม่เข้ามาบริหารบ้านเมือง โดยเฉพาะกลุ่ม new voter หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ หรือเพิ่งเลือกตั้งไปครั้งเดียว ซึ่งก็มีจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญอยู่ พวกนี้เห็นว่า “ถ้าเลือกแบบเดิมๆ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” กระแสอยากได้คนรุ่นใหม่ก็แรง ความอยากได้คนรุ่นใหม่นี้น่าจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดิมพันส่งแก้วตาดวงใจอย่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลงเป็นแกนนำทัพเพื่อไทยสู้ศึกเลือกตั้ง

อุ๊งอิง

ปัญหาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีอะไรเป็นจุดขาย? เน้นเรื่อ ความซื่อสัตย์สุจริต รักสถาบัน ก็ดูเหมือนได้ใจใน กลุ่มอนุรักษนิยม เสียมากกว่า แต่กลุ่มนี้จะมี “กำลัง” สู้กับกลุ่มที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงหรือไม่? ซึ่งเมื่อเลือกตั้ง เชื่อว่าจะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ใช้สื่อเพื่อรณรงค์การเลือกตั้งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย เหมือนตอนเลือกผู้ว่าฯ กทม. ที่กระแสเชียร์ อ.ทริป นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แรงมาก..และอีกอย่างหนึ่ง บิ๊กตู่เป็นคนดูไม่มีเสน่ห์ทางการเมือง ด้วยบุคลิกบางอย่างเช่น ความโผงผาง ชอบสอน หรือบางทีก็เล่นกับผู้สื่อข่าวเยอะเกินไป กลายเป็นบางครั้งภาพนั้นถูกนำมาดิสเครดิต

การเลือกตั้งเที่ยวนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองหรือไม่? มีสองจังหวะ คือ ประชาชนจะเลือกตั้งเอาขั้ว คสช.เข้ามาจนเป็นเสียงข้างมากหรือไม่ จังหวะที่สอง คือ ถ้าขั้ว คสช.ไม่ได้เสียงข้างมาก จะยอมให้ดึงดันจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”