กลายเป็นประเด็นถกเถียงสนั่นบนโลกออนไลน์ หลังจากเพจเฟซบุ๊ก @Suansanook Thai ชมรมคนรักสวนสนุก ได้ออกมาโพสต์รูปบรรยากาศภายใน Bangkok World ซึ่งเป็นสถานที่พิพิธภัณฑ์หรือสวนสนุกและสวนน้ำ ที่ตั้งอยู่ที่ถนนสวนสยาม แขวงคันนายาว เขตคันนายาว บนเนื้อที่ 300 ไร่ มีจุดเด่นภายในโครงการมีทะเลเทียมขนาดใหญ่อันเป็นที่มาของฉายาว่า “ทะเลกรุงเทพ” โดยทะเลเทียมแห่งนี้ใหญ่ที่สุดในโลกจากการรับรองของบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ หรือชื่อเดิมคือ สวนสยาม เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 สวนสยามจึงเป็นทั้งสวนน้ำและสวนสนุกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีรางน้ำวน สปา พร้อมเครื่องเล่นทางน้ำครบครัน สไลเดอร์ที่สูงเท่ากับตึก 7 ชั้น และเครื่องเล่นอื่นๆ อีก 40 ชนิด

ต่อมาภายหลังปี พ.ศ. 2562 สวนสยามประกาศปิดปรับปรุงใหญ่บางส่วน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น สยามอะเมซิ่งพาร์ค (ชื่อปัจจุบัน) ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่สองคือ สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ, วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ และจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

โดยประเด็นร้อนเกิดจากมีการอัพเดทรูปภาพบรรยากาศในโซนใหม่ของสยามอะเมซิ่งพาร์ค ที่เพิ่งเปิดให้บริการ ซึ่งจำลองสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ ประตูสามยอด, ป้อมพระสุเมรุ, อนุสาวรีย์ลุงไชยวัฒน์, สะพานพุทธ งานนี้ทำชาวเน็ตต่างพากันแห่เข้ามาสนใจล้นหลามนั้นคือ แบบจำลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีการลดรายละเอียดคือ ขาดเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทยที่วางอยู่บนพานแว่นฟ้า โดยชาวเน็ตพากันวิพากษณ์วิจารณ์สนั่น อาทิ รัฐธรรมนูญหายเฉย, ทุกส่วนสร้างมารองรับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามทางด้าน สยามอะเมซิ่งพาร์ค ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรของดราม่าที่เกิดขึ้น

สำหรับ ความหมายและส่วนประกอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
1. ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร รัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 มิถุนายน วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
2. ปืนใหญ่ 75 กระบอก โดยรอบหมายถึง พ.ศ. 2475 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
3. ภาพดุนที่ฐานปีก หมายถึง ประวัติการดำเนินงานของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
4. พานรัฐธรรมนูญตั้งบนป้อมกลางสูง 3 เมตร หมายถึง เดือนที่ 3 คือ เดือนมิถุนายน เดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เดิมการนับปีใหม่ เริ่มจากเดือนเมษายน เป็นเดือนที่ 1)
5. พระขรรค์ 6 เล่ม ประกอบบานประตูรอบป้อมกลาง หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันเป็นนโยบายของคณะราษฎร ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Suansanook Thai ชมรมคนรักสวนสนุก, @พิพิธภัณฑ์รัฐสภาเล่าเรื่องการเมืองการปกครองไทย