เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศ) โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) ยกระดับชั้นที่ 2 หรือ Double Deck ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9

นายสุรเชษฐ์ ระบุว่า ได้รับร้องเรียนจากประชาชนเข้ามามากว่า ทางด่วนไม่ด่วนจริง มีหลายจุดที่เกิดปัญหาจราจรสาหัสมาก โดยเฉพาะสามแยกนรก บริเวณช่วงทางแยกต่างระดับพญาไท ที่ด้านเหนือไปประชาชื่น และด้านใต้ไปบางโคล่ ปัญหาเกิดจากทั้งความจุของทางด่วนไม่พอ, จุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วม และทางแยก, การจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางด่วน, การไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง และคอขวดทางกายภาพบนทางด่วน

เมื่อการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันใช้วิธีจัดการจราจรไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีแก้ทางกายภาพ จึงต้องสร้างทางด่วน 2 ชั้น เพื่อแยกเส้นทางรถให้ด้านเหนือที่จะไปประชาชื่น ขึ้นไปใช้ทางด่วนชั้นที่ 2 ส่วนด้านใต้ที่จะไปบางโคล่ ให้ใช้ทางด่วนเดิมด้านล่าง เพื่อไม่ให้ตัดกระแสการจราจรกัน

การสร้างทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 เป็นเรื่องที่ท้าทายทางวิศวกรรม เพราะต้องสร้างอยู่บนทางด่วนที่เปิดให้บริการตามปกติ โดยระหว่างก่อสร้างอาจมีสิ่งของตกลงมาได้ จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ต้องมีมาตรการรัดกุม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทางในระหว่างการก่อสร้าง

ปัจจุบันโครงข่ายทางด่วนของ กทพ. มีระยะทางรวมกันประมาณ 200 กิโลเมตร (กม.) เคยสร้างทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 แล้ว แต่เป็นระยะสั้นๆ เช่น บริเวณพระราม 4 รวมทั้งกำลังก่อสร้างในโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง บางช่วงระยะทางประมาณ 5 กม.

การเตรียมก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ถือเป็นระยะทางที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 17 กม. ในการดำเนินงานย่อมมีประชาชนได้รับผลกระทบ และทัศนียภาพอาจจะเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการต่อไป เป็นการแสดงความมุ่งมั่นว่า กทพ. ใส่ใจต่อความรู้สึก และความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ตามสายทางทางด่วนอย่างเต็มที่ ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ ย้ำถึงความมุ่งมั่น

ด้านนายวิรัช หิรัญ ผู้จัดการโครงการฯ ให้รายละเอียดว่า โครงการทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 อยู่ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางด่วน ระยะที่ 1 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางด่วนศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนัก เข้าขั้นวิกฤติทั้งใน และนอกช่วงเวลาเร่งด่วน

แนวเส้นทางฯ ก่อสร้างเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นทางยกระดับซ้อนทับไปตามแนวสายทางของทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มุ่งทิศใต้ เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน และสิ้นสุดบริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4ของทางด่วนศรีรัช รวมระยะทาง 17 กม. มีขนาด 4ช่องจราจร (2ช่องจราจรต่อทิศทาง)

มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง ได้แก่ ด่านประชาชนชื่น (ชั้นที่ 2) และด่านมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลง จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ทางขึ้นลงบริเวณย่านพหลโยธิน และทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสันมีเฉพาะทางลง

กทพ. จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 450 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 66 โดยพื้นที่ศึกษาครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นนทบุรี 1 อำเภอคือ อ.เมืองนนทบุรี และกรุงเทพฯ 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ, จตุจักร, พญาไท, ดุสิต, ราชเทวี, ดินแดง และห้วยขวาง ทั้งนี้ในเดือน ม.ค. 66 กทพ. จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 จะมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับแผนดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางด่วน ระยะที่ 1 ประกอบด้วย ปี 65-67 (27 เดือน) ศึกษาความเหมาะสมฯ ออกแบบเบื้องต้น และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP), ปี 66-67 (12 เดือน) ขออนุมัติรายงาน EIA, ปี 66-68 (17 เดือน) ขอใช้พื้นที่, ปี 68-73 (60 เดือน) ก่อสร้างโครงการฯ ปี 68 และเปิดบริการในปี 73

ปัญหาทางกายภาพ ก่อเกิดนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมที่พัฒนาไม่หยุดยั้ง ก็ต้องยกระดับมาตรการความปลอดภัยให้ประชาชนและผู้ใช้เส้นทางควบคู่กันด้วย ในอนาคตนอกจากทางด่วนชั้นที่ 2 แล้ว อาจได้เห็นชั้นที่ 3 แต่ต้องแลกกับทัศนียภาพที่ถูกบดบัง

หากว่ารถยนต์ส่วนตัวยังพุ่งปรี๊ด ด้วยระบบรางยังไม่ตอบโจทย์ เพราะภาครัฐจัดการฟีดเดอร์เชื่อมต่อไม่ดีพอ อีกทั้งค่าโดยสารก็แพง

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…