จากกรณีข่าวดังบนโลกออนไลน์ที่ยังคงถกเถียงสนั่น หลังจากมีหนุ่มอีสานคนหนึ่ง ได้โพสต์ชวนตั้งคำถามภาพสัตว์แปลกประหลาด ที่มี 4 ขา หางยาวคล้ายงู หลังพบวิ่งเข้ามาหลบภายในตัวบ้านตน เมื่อไล่ให้ออกไปกลับไม่ไป และเผชิญหน้าพร้อมสู้
มันคือตัวอะไร? หนุ่มอีสานเจอสิ่งมีชีวิตไม่คุ้นตา มี 4 ขา หางยาวคล้ายงู ไล่ไม่ไป-สู้คน
ภายหลังจากที่ข่าวนี้แพร่หลายออกไป เชื่อว่าใครหลายคนทั่วประเทศไทย ยังเฝ้ารอข้อเท็จจริงว่าสัตว์ดังกล่าวที่เป็นประเด็นคือตัวอะไรกันแน่ วันนี้ เดลินิวส์ จะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยสัตว์ที่กล่าวขานร่ำลือ ทั้งในเรื่องพิษร้ายกาจนั้นมันน่าสะพรึงกลัวจริงหรือเปล่า
โดย “น.อ.วิโรจน์ นุตพันธุ์” กรรมการจัดทำอนุกรมวิธานสัตว์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางสัตววิทยา เคยเปิดเผยถึงความเข้าใจและความเชื่อผิดๆ ของคนทั่วไปเกี่ยวกับสัตว์และงูอย่าง “สางห่า” หรือที่ชาวบ้านเรียก “งูคา”
ซึ่งความเชื่อทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ กล่าวกันว่า สางห่าเป็นสัตว์คล้ายจิ้งเหลน จิ้งจก หรืองู ชอบอยู่ตามถ้ำหรือแอ่งน้ำในถ้ำ ตัวเล็กนิดเดียวแต่มีพิษแรงมาก บ้างว่าพิษอยู่ที่เล็บซึ่งแหลมคม บ้างก็ว่ามีเขี้ยวพิษ บางคนว่ามีพิษที่หางเพราะยาวมาก ถ้ามันเอาหางฟาดหรือพันใครก็จะเป็นผื่นไหม้อาจถึงตาย เพียงเอาเส้นหวายไปคล้อง หวายยังถึงกับไหม้เกรียม
ส่วนด้านพระภิกษุและพรานป่าแถบนครราชสีมา และอุทัยธานี เล่าว่า สางห่า คือ งูชนิดหนึ่ง แต่มีขาเล็กๆ อาศัยอยู่ตามป่าหญ้าสูงๆ เกาะอยู่กับหญ้ากอใด หญ้ากอนั้นก็จะเฉาตาย แล้วมันก็จะย้ายไปเกาะอาศัยหญ้าสดกออื่นๆ ต่อไป
และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางท้องที่ และภาคตะวันตก เช่น กาญจนบุรี และที่ระนอง มีผู้เข้าใจว่า สางห่า คือ คากคกป่า ซึ่งมีพิษ และส่งเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า
นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวถึง สางห่า ในลักษณะต่างๆ อีกมาก ซึ่งสรุปได้ว่า สางห่า อาจเป็น งู จิ้งเหลน (งูมีขา) หรือคางคก แต่เมื่อขอให้นำตัวจริงมายืนยันกัน ก็มักไม่สามารถหามาให้ได้ เพราะเป็นเพียงการได้ยินเขาเล่าว่า สืบต่อกันมาเป็นส่วนใหญ่ เท่าที่มีผู้นำตัวจริงที่ยังมีชีวิตอยู่ และตัวอย่างจริงที่ดองไว้มาให้ดู ก็ได้รับการยอมรับเป็นส่วนใหญ่ว่า สางห่า คือ จิ้งเหลนหางยาว (Takydromus sexlineatus )
ในการประชุมคณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานสัตว์ เพื่อชำระชื่อพรรณสัตว์ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ที่ประชุมได้พิจารณาคำอธิบาย สางห่า กันอย่างรอบคอบ โดยนำตัวจริงซึ่งยังมีชีวิตอยู่มาดูลักษณะกันอย่างใกล้ชิด ในที่สุดได้อธิบายคำว่า สางห่า ไว้ดังนี้
“สางห่า (ถิ่น-อีสาน) น. ชื่อเรียกจิ้งเหลนหางยาวชนิด Takydromus sexlineatus ในวงศ์ Lacertidae พบทุกภาคของประเทศไทย ตัวเล็ก หางยาวประมาณ 5 เท่าของความยาวลำตัว ที่เรียกสางห่าเพราะเข้าใจผิดว่ามีพิษร้ายแรง”
เมื่อโตเต็มวัย ลำตัวขนาดประมาณเท่าหลอดดูดกาแฟ ความยาวจากปลายจมูกถึงทวารยาวประมาณ 35 เซนติเมตร หัวค่อนข้างโตเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ปากแหลม เกล็ดหยาบ รอยต่อระหว่างเกล็ดยกเป็นสัน หางแข็งแรง ยาว และไม่ขาดง่าย มองเผินๆ จะเห็นว่า สางห่ามีสีน้ำตาล แต่เมื่อสังเกตจะเห็นลายเส้นสีครีมพาดจากท้ายมาถึงโคนหาง และลายเส้นสีน้ำตาลเข้มจากปลายจมูกพาดผ่านตา ช่องหู ปาก ใต้คาง และท้องขาว ขาและหางสีน้ำตาลอ่อนตัวผู้มักมีสีขาวอ่อนบริเวณข้างลำตัว
โดยปกติ สางห่า จะอาศัยอยู่ตามป่าหญ้าและละเมาะไม้พุ่มเตี้ย มักไม่ค่อยขึ้นอาศัยตามต้นไม้สูง ชอบนอนผึ่งแดดอ่อน ๆ ตามยอดพุ่มไม้และกอหญ้า โดยใช้หางพาดระหว่างใบหญ้า และปล่อยตัวแขวนลอยเป็นอิสระ เหวี่ยงตัวแว้งงับกินแมลงได้อย่างรวดเร็ว สางห่าออกไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาค แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร สางห่า ไม่มีพิษ ไม่ดุ ไม่กัด และไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่กลับมีประโยชน์อยู่บ้างที่ช่วยกินแมลงศัตรูพืชบางชนิด…
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, @จีระพันธ์ดิสิงห์, @Deaw