นักศึกษาระดับอุดมศึกษา เกือบทุกสถาบันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน นักศึกษาเข้าใหม่ ชั้นปี 1 ที่เข้าใหม่ตั้งแต่ปี 2563 ยังแทบจะไม่ได้สัมผัสบรรยากาศการเรียนการสอนจริง ๆ ในสถาบันตัวเองเลย หรืออย่าง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด เพิ่งจะได้สอบกลางภาคเทอม 2 ที่สำคัญถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้จัดการสอบออนไลน์ในทุกกระบวนวิชา ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด มีนักศึกษาเข้าสอบออนไลน์จำนวนมาก ทำให้ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ต่างก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญกับการสร้างมาตรฐานในการสอบออนไลน์
“ม.ราม” ลุยปรับตัวทั้งระบบ
ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ตามไปเกาะติดความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์นิพิฐ สง่ามั่งคั่ง รองผู้อำนวยการสถาบันคอมพิวเตอร์ ม.รามคำแหง ทีมผู้ออกแบบการสอบออนไลน์ ให้สัมภาษณ์ว่า การสอบออนไลน์ในครั้งนี้ วิชาที่มีผู้เข้าสอบมากที่สุดคือ วิชาพื้นฐานภาษาอังกฤษ (EN101) โดยมีนักศึกษาลงทะเบียนสอบกว่า 9,000 คน จึงต้องแบ่งห้องสอบออนไลน์เป็น 19 ห้อง แต่ละห้องมีนักศึกษามาสอบ ประมาณ 500 คน และแบ่งกรรมการคุมสอบในแต่ละห้องให้ดูแลนักศึกษาคนละ 100 คน
ปัญหาที่พบจากการสอบส่วนใหญ่มาจากเทคโนโลยี ทั้งตัวอาจารย์และนักศึกษา เช่น นักศึกษามีอินเทอร์เน็ตที่สัญญาณไม่ดี หรือมีมือถือที่ใช้ในการสอบบางยี่ห้อ ที่ไม่รองรับกับโปรแกรมของกูเกิล ขณะที่หัวใจหลักของการออกข้อสอบออนไลน์ จะต้องพยายามปล่อยข้อสอบให้นักศึกษาเห็นทีละไม่มาก โดยต้องเห็นข้อสอบให้น้อยที่สุด และเวลาในการทำข้อสอบน้อยที่สุด เพราะถ้าให้เวลามากนักศึกษาจะมีเวลาในการค้นข้อมูลออนไลน์ หรือการใช้โปรแกรมบางตัว ที่แค่ถ่ายรูปคำตอบก็ออกมาผ่านการประมวลผล ดังนั้นเจ้าหน้าที่คุมสอบต้องมีทักษะในการสังเกตพฤติกรรม นอกจากนี้การออกข้อสอบออนไลน์ อาจารย์จะต้องออกข้อสอบที่ไม่สามารถค้นหาได้เพียงคลิกเดียว แต่ต้องออกข้อสอบที่มีการวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งตอนนี้วิชาที่มีความยากในการจัดสอบออนไลน์ คือ วิชาภาษาอังกฤษที่เน้นใช้การฟัง และมีนักศึกษาเข้าสอบกว่า 1,000 คน จะต้องมาออกแบบเพื่อป้องกันนักศึกษาใช้แอพพลิเคชั่นแปลภาษามาใช้ในการทุจริตการสอบ
ที่ ม.รามคำแหง มีการทำระบบสอบออนไลน์เอง แต่การที่เรามีนักศึกษาเยอะ การสร้างระบบขึ้นเองจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนมาก และยากในการรับข้อมูลทีละมาก ๆ ดังนั้นจึงต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอกคือ กูเกิล ที่มีมือถือเครื่องเดียวก็สอบได้ แม้หลายคนจะกังวลถึงจุดอ่อน แต่ด้วยสภาวะตอนนี้ การที่จะให้นักศึกษาทั้งหมดไปหาอุปกรณ์เสริม เช่น โน้ตบุ๊ก หรือกล้องวิดีโอ ฯลฯ ยิ่งจะเพิ่มภาระให้นักศึกษาในยามวิกฤติโควิดเข้าไปอีก
ค้นหามาตรฐานการสอบที่เหมาะสม
ดร.ภาณุฤทธิ์ สารสมบัติ รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน คณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง กล่าวว่า ด้วยการระบาดของโควิด ทำให้ระบบการศึกษาหยุดชะงัก มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายในการสอนและสอบนักศึกษาออนไลน์ เพราะมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาหลากหลาย และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งการเรียนสำหรับนักศึกษารามฯ มีการเรียนด้วยตัวเองอยู่เดิม แต่ผู้สอนอาจจะต้องสอนผ่านออนไลน์ และมีการบันทึกเป็นวิดีโอเผื่อนักศึกษาจะได้กลับมาเปิดทบทวนได้ แต่การสอบถือว่ากระทบกับนักศึกษามาก เนื่องจากเรามีนักศึกษาจำนวนมากเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เช่นเดียวกับความหลากหลาย โดยปีนี้มีนักศึกษาสาขาสื่อสารมวลชน ลงทะเบียนเรียนประมาณ 16,000 คน แต่มีนักศึกษาที่ลงทะเบียนสอบออนไลน์ 5,000 – 6,000 คน การลงทะเบียนสอบจึงมี 2 รอบ เพื่อแบ่งจำนวนผู้เข้าสอบออนไลน์ ซึ่งการสอบรอบแรก เป็นวิชาที่มีจำนวนนักศึกษาต่ำกว่า 200 คน ส่วนการสอบออนไลน์รอบที่ 2 จะเป็นวิชาที่มีผู้เข้าสอบ 200–1,000 คน
“การจัดสอบออนไลน์ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ทั้งผู้สอน นักศึกษา และเจ้าหน้าที่คุมสอบ เพราะนักศึกษาเรามีความหลากหลาย การเปลี่ยนไปสอบออนไลน์ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว หรือดึงรูปแบบการสอบเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มีจำนวนนักศึกษาไม่มากมาใช้ อาจไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงต้องค่อย ๆ พัฒนาโดยคำนึงถึงนักศึกษาเป็นสำคัญ”
อย่างไรก็ดีการสอบออนไลน์ได้ก็ผ่านการประชุมและปรับปรุงระบบมาสักพัก โดยเริ่มต้นจากการหันมาดูทรัพยากรที่มีอยู่ จนพบว่า นักศึกษาทุกคนจะได้รับอีเมลของมหาวิทยาลัย ที่เชื่อมต่อกับกูเกิล หลังจากมาสมัครเป็นนักศึกษา โดยนักศึกษาสามารถเข้าถึงโปรแกรมต่าง ๆ ในลิขสิทธิ์ของกูเกิลได้ ในส่วนของอาจารย์ ได้มีการประชุมร่วมกัน และทดลองว่า ถ้าจะให้นักศึกษาสอบโดยพิมพ์คำตอบ หรือติ๊กเครื่องหมายถูก ผ่านระบบออนไลน์มาเลย อาจไม่เหมาะสม เพราะนักศึกษามีโอกาสที่จะไปดูข้อมูลผ่านการค้นหาออนไลน์ โดยที่คนคุมสอบไม่สามารถจับได้
การคำนวณการทำข้อสอบโดยเฉลี่ย จากการเข้าห้องสอบแบบเดิม ที่กำหนดว่า ข้อสอบแบบกากบาท 100 ข้อ จะใช้เวลาสอบ 2 ชั่วโมง เมื่อมาสอบออนไลน์ จะมีการแบ่งห้องเพื่อให้นักศึกษาลงทะเบียนสอบ และมีเจ้าหน้าที่คุมสอบ 1 คน ผ่านกล้องวิดีโอ ที่สามารถสื่อสารกันได้ทั้งสองทาง โดยข้อสอบแบบกากบาท เจ้าหน้าที่จะปล่อยภาพข้อสอบครั้งละ 20 หน้า โดยในแต่ละแผ่นจะมีข้อสอบ 5 ข้อ หากนักศึกษามีพฤติกรรมทุจริต กรรมการสอบจะสอบถามผ่านเสียงออนไลน์ แต่ถ้ามีแนวโน้มว่าทุจริตจริง กรรมการจะดึงภาพและเสียงของนักศึกษาคนนั้น ไปห้องสอบออนไลน์ต่างหาก เพื่อซักถาม หากมีความผิดจริงจะต้องได้รับโทษ ’พักการศึกษา“
โจทย์ใหญ่ทุกฝ่ายต้องร่วมหาทางออก
ดร.ภาณุฤทธิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญของการสอบออนไลน์คือ การยืนยันตัวตนก่อนสอบ ที่จะใช้เวลานานกว่าการสอบแบบปกติ เพราะจะให้นักศึกษาเปิดกล้อง โชว์บัตรนักศึกษาพร้อมบัตรประชาชน โดยให้เห็นใบหน้าของนักศึกษา ขณะเดียวกันก็ให้เขียนคำปฏิญาณในการสอบลงบนกระดาษเปล่า เพื่อให้กรรมการคุมสอบได้ดูลายมือว่า ตรงกับลายมือที่เขียนไว้ตอนสมัครสอบหรือไม่ เพื่อป้องกันการมาเข้าสอบแทนกัน สำหรับการส่งข้อสอบแบบข้อเขียน ผู้สอบจะพิมพ์แจ้งกรรมการว่าจะส่งข้อสอบ โดยให้ถ่ายรูปกระดาษคำตอบที่เขียน และแปลงไฟล์เป็นพีดีเอฟ ผ่านแอพพลิเคชั่นแปลงไฟล์ในมือถือ และส่งไฟล์มายังคณะ ขั้นตอนนี้เรามีการฝึกซ้อมกับนักศึกษาที่ทดลองระบบแล้วทุกคน แต่ถ้าทำไม่ได้ เมื่อสอบเสร็จ จะต้องอยู่ในระบบก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เทคนิคช่วยแก้ไข และส่งข้อสอบมาทันที
การสอบออนไลน์นักศึกษาสามารถแต่งตัวได้ตามเหมาะสม ในระหว่างการสอบจะต้องอยู่ในห้องเพียงคนเดียว จากการสอบที่ผ่านมา นักศึกษาหลายคนเดินทางกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด บางคนก็สอบระหว่างนั่งรถไฟกลับบ้านที่ จ.นราธิวาส กรณีนี้กรรมการคุมสอบจะต้องคอยสังเกตว่า ถ้าสัญญาณหายระหว่างเดินทาง เกิน 5 นาที กรรมการคุมสอบจะต้องโทรฯสอบถามทันที เพราะนักศึกษารามฯ มีอยู่หลากหลายพื้นที่อาจมีผลต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้
ตอนนี้ต้องยอมรับว่า ผลกระทบของโควิด ส่งกระทบต่อจิตใจของนักศึกษา และสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว แม้การสอนออนไลน์จะทำให้อาจารย์และนักศึกษามีความห่างเหิน บางคนท้อและเหนื่อยล้าจากการเรียนออนไลน์ สิ่งนี้เป็นโจทย์ที่กระทรวงต้องทบทวนว่า จะทำอย่างไรที่ผู้เรียนและคนสอนมีความสุข โดยภาระไม่ตกไปอยู่ในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เช่นเดียวกับมาตรฐานการประเมินการศึกษาของกระทรวงบางอย่าง ที่สร้างความตึงเครียดให้กับนักศึกษาจะต้องแก้ไข
บทเรียนล้ำค่าการแก้ปัญหายามวิกฤติ
ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวว่า เหตุสำคัญที่ต้องจัดสอบออนไลน์ เนื่องจากมีนักศึกษาที่จะต้องสอบเข้าทำงานในที่ต่าง ๆ เช่น สอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา, อัยการ, ปลัดอำเภอ ดังนั้นถ้าเลื่อนสอบไปเรื่อย ๆ นักศึกษาเหล่านี้จะสูญเสียโอกาส สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เราคำนึงถึงอนาคตของลูกศิษย์ แม้ก่อนหน้านั้นจะรอให้สถานการณ์การระบาดลดลง จนมีผลกระทบต่อนักศึกษาในภาคการเรียนก่อน ๆ เดิมเรามีการจัดสอบออนไลน์ในบางวิชาที่มีนักศึกษามาลงเรียนไม่มากนัก แต่การสอบครั้งนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องสอบออนไลน์ในหลายวิชาที่มีจำนวนนักศึกษาที่สอบห้องละ 100 คนขึ้นไป บางวิชามีผู้สอบ 3,000–4,000 คน มหาวิทยาลัยก็ได้วางระบบต่างๆ ไว้อย่างรัดกุม จากการสอบยังไม่พบการทุจริต ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ ม.รามคำแหง ที่จัดสอบออนไลน์ทุกวิชา
“วิกฤติโควิดครั้งนี้ ทำให้เรามองเห็นโอกาส และมาทบทวนตัวเองเพื่อหาทางออก และเป็นบทเรียนที่ดีในการที่เราจะหาช่องทางในการแก้ปัญหา ในการสอบออนไลน์อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการแสดงตัวตนในการสอบออนไลน์”.