ประติมากรรมเฉพาะที่แสดงร่างกายที่เชื่อมโยงกับที่ว่างและแสงสว่าง สร้างด้วยเหล็กชวนสะดุดตา เครื่องมือนำพาไปสู่ความมีสติ แสดงพื้นที่ของประสบการณ์มนุษย์ ความสัมพันธ์ที่มีต่อที่ว่าง ฯลฯ งานศิลปะจัดวางแสดงในบริเวณลานวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในงานศิลปะของศิลปินชั้นนำระดับโลก แสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022”

ประติมากรรม ผลงานศิลปะจัดวางดังกล่าว โดยศิลปินแอนโทนี กอร์มลีย์ ที่จัดแสดงในพื้นที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ โบราณสถานสำคัญของกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ใน “River Route” เส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่พาเที่ยวชมพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ชมงานอาร์ตย่านเกาะรัตนโกสินทร์

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022” ภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM โกลาหล:สงบสุข โดยมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ เอกชนหลายหน่วยร่วมกันจัดแสดงศิลปะร่วมสมัย นำผลงานศิลปะจากศิลปินชั้นนำทั่วโลก เติมสีสันกรุงเทพฯ ให้เต็มไปด้วยงานศิลปะ เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรม เป็นจุดหมายของนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเที่ยวชม ในหลายสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง ตลอดระยะเวลาร่วมสี่เดือนถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ในเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากสถานที่นี้ งานศิลปะเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022” ยังแสดงที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และที่มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งไม่ไกลจากวัดโพธิ์ ส่วนหนึ่งพาส่องศิลปะไฮไลต์จากสองสถานที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารและมิวเซียมสยาม นำข้อมูลจากศิลปิน จากการได้ร่วมทริปชมเทศกาลศิลปะฯ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ให้ความรู้ ชวนปักหมุดชมงานอาร์ต “โกลาหล:สงบสุข” จากศิลปินชั้นนำระดับโลก 

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

“เบียนนาเล่ ทุกสองปีมีขึ้นครั้งหนึ่ง โดยที่ผ่านมาเราเริ่มขึ้น ในปี 2018 ต่อเนื่องมาในปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่สามของเทศกาลศิลปะฯ และจากที่กล่าวสถานที่จัดแสดงมีขึ้นในหลายสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ทั้งในพื้นที่หอศิลป์ แสดงในพื้นที่วัดวาอารามสำคัญ ๆ ดังเช่นที่นี่ นอกจากเป็นการนำเสนอมรดกศิลปวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันจะได้ชมงานศิลปะร่วมสมัยไปพร้อมกัน ก่อเกิดปฏิสัมพันธ์ เกิดบทสนทนาระหว่างกัน” ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เริ่มบอกเล่า พร้อมกับอธิบายการทำงานศิลปะของศิลปิน และผลงานไฮไลต์

“ศิลปินที่ได้รับคัดเลือก จะทำงานด้วยความเคารพกับสถานที่ คำนึงถึงปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ โดยธีมโกลาหล : สงบสุข ที่เป็นโจทย์ให้กับศิลปินสร้างสรรค์ในสถานที่ต่าง ๆ ที่จัดแสดงผลงาน จะได้เห็นบริบทต่าง ๆ ทั้งนี้ หากไม่พูดถึงเรื่องราวศิลปะ ชีวิตของเราก็อยู่ระหว่างจุดเหล่านี้ ในพื้นที่ที่มีทั้งความโกลาหล สงบสุข แต่จะมากหรือน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับเรา สิ่งที่กระทบเข้ามาถ้ารับมือบริหารจัดการได้ ความสงบสุขก็ย่อมมีมากกว่าโกลาหล แต่อย่างไรแล้วไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นอยู่กับการจัดการ และจากธีมนี้ที่ถ่ายทอดสู่ศิลปิน ในเทศกาลศิลปะฯ ครั้งนี้ก็จะได้เห็นในบริบทที่ต่างกันไป”

อโรคยาศาลา

สำหรับที่ วัดโพธิ์ สถานที่นี้ แสดงผลงานศิลปะของ มณเฑียร บุญมา หนึ่งในศิลปินคนสำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยไทยและนานาชาติ ผลงานของอาจารย์มณเฑียรได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการศิลปะที่โดดเด่นในระดับนานาชาติมากมาย แสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำต่าง ๆ ผลงานมีความโดดเด่นในการผสมผสานศิลปะไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืน เป็นศิลปินสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไปอยู่ในแผนที่ของการแสดงงานศิลปะในระดับนานาชาติ ฯลฯ

ผลงานที่จัดแสดงมีสองชิ้น เศียรพระพุทธรูปอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ (พ.ศ. 2542) จัดวางอยู่ในวิหารตรงข้าม พระป่าเลไลยก์ หรือ พระพุทธปาลิไลยก์ วิหารทางทิศเหนือ โดยถ้าเข้าชม สามารถเข้าไปใต้เศียรพระซึ่งเต็มไปด้วยสมุนไพรที่เป็นยา สามารถมองเห็นแสงที่ลอดผ่านรูเล็ก ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับดวงดาวทางโหราศาสตร์ ศิลปินเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาให้ที่ว่างภายในองค์พระปฏิมาเป็นที่พำนักแห่งจิตใจ สติของผู้คนที่ปรารถนาให้สภาวะของจิตนั้นเข้าสู่มิติของความสงบผ่อนคลาย”

อีกหนึ่งในไฮไลต์ อโรคยาศาลา (พ.ศ. 2537) จัดแสดงอยู่ในเก๋งจีน ในสวนมิกสกวัน ใกล้วิหารพระนอน ผลงานชิ้นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ให้ข้อมูลว่า เป็นผลงานที่ไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ใดมาก่อน โดยครั้งนี้นำมาจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก อีกทั้งการนำมาแสดงในพื้นที่นี้นอกจากได้ศึกษาชมงานศิลปะของศิลปิน สวนแห่งนี้ยังมีประวัติความเป็นมาน่าศึกษา อาคารสถาปัตยกรรม ภาพจิตรกรรมฝาผนัง การนำศิลปะจีนประดับตกแต่งล้วนเชื่อมโยงบอกเล่าความสำคัญของพื้นที่ 

“ถ้าเดินชมโดยรอบวัดจะเห็นการซ่อมบูรณะส่วนต่าง ๆ ซึ่งก็เชื่อมกับงานศิลปะของศิลปิน อโรคยาศาลา คำนี้มีความสำคัญมาแต่ครั้งอดีตซึ่งอาจารย์มณเฑียรสนใจความคิดนี้ จึงเป็นที่มาของงานศิลปะ การบำบัดเยียวยาในที่นี้เป็นเรื่องของจิตและกายโยงถึงความหมาย ความตั้งใจของศิลปินกับชีวิตของศิลปิน ฯลฯ”

เศียรพระพุทธรูป ผลงาน อ.มณเฑียร บุญมา

สถานที่นี้ยังมีงานศิลปะจาก แอนโทนี กอร์มลีย์  ศิลปินที่ได้รับการยกย่องจากผลงานประติมากรรม ผลงานศิลปะจัดวาง และงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของร่างกายมนุษย์กับพื้นที่ จากส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงประติมากรรม Connect ยังมีอีกหนึ่งผลงาน Contain จัดแสดงอีกฝั่งระเบียง โดยทั้งสองผลงานแสดงพื้นที่ประสบการณ์ของมนุษย์ ความสัมพันธ์ที่มีต่อพื้นที่ว่าง ฯลฯ จัดวางสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน 

ไม่ไกลจากกันเดินต่อไปที่ มิวเซียมสยาม ชมตึกสถาปัตยกรรมยุคโคโรเนียล เดิมเป็นที่ตั้งกระทรวงพาณิชย์ ส่วนปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่นี่มีผลงาน Wall of Change โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น ทัตสึโอะ มิยาจิมะ ผลงานของศิลปินมีรากฐานอ้างอิงเทคโนโลยี ตัวเลขดิจิทัลไดโอดเปล่งแสง ตัวเลข 1 ถึง 9 กะพริบต่อเนื่องและซ้ำไปมาแบบไม่เรียงต่อ เป็นตัวแทนของการเดินทางจากชีวิตไปสู่ความตาย จุดสุดท้ายแทนด้วยศูนย์ คือจุดสิ้นสุด ซึ่งจะไม่เคยปรากฏในงานของเขา

จากข้อมูลเล่าถึงทฤษฎีนี้ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดมนุษยนิยม แนวทางหลักในการสร้างงานศิลปะของศิลปินคือ การเปลี่ยนแปลงเสมอ เชื่อมโยงทุกอย่างและดำเนินไปตลอดกาล ฯลฯ งานชิ้นนี้ที่แสดงเมื่อเข้าชมสามารถมีส่วนร่วมไปกับผลงานศิลปะของศิลปินได้    

ประติมากรรมโดยแอนโทนี กอร์มลีย์

ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ Patterns of Resilience โดยทาซีน ไกยัม ศิลปินชาวปากีสถาน-แคนาดา ซึ่งทำงานหลากหลายสาขาที่ประเทศแคนาดา ครั้งนี้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานโดยเฉพาะ ใช้โมทีฟแมลงสาบ ลวดลายอันโดดเด่นแสดงโดยรอบ ปรากฏบนผนัง พื้น ทางเดิน ฯลฯ แสดงความสามารถถึงการต่อสู้ ฝ่าฟันกลับสู่สภาพเดิม การฟื้นคืน สอดคล้องกับแก่นโกลาหล สงบสุขชวนขบคิดถึงวิกฤติโรคระบาดทั่วโลก ผลกระทบทางจิตใจที่เกิดจากความหวาดกลัว เป็นเครื่องเตือนใจถึงการอยู่รอด ความอดทน เป็นต้น

ศิลปินและผลงาน Patterns of Resilience

นอกจากนี้ยังมีงานประติมากรรมจาก ทอม แซ็คส์ ศิลปินที่ทำงานประติมากรรมซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากไอคอนของแนวคิดสมัยใหม่ บริโภคนิยมและการออกแบบ งานประติมากรรมของศิลปินตั้งใจแสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างงานสกรูและรอยต่อต่าง ๆ เจตนาให้เห็นชัดเจน และครั้งนี้เรือหางยาว เรือหัวโทงจากภาคใต้จะเป็นพาหนะที่สำรวจ โดยปรากฏในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนนำขึ้นมาจัดแสดง ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่งของงานศิลปะในพื้นที่นี้

หนึ่งในพิกัดสถานที่แสดงงานศิลปะร่วมสมัยในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ในเส้นทางเลียบแม่น้ำ ร่วมบอกเล่าแนวคิด “โกลาหล : สงบสุข”…

Wall of Change

เติมสีสันกรุงเทพมหานครมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยงานศิลปะ เป็นจุดหมายให้กับคนรักงานศิลปะ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ