เมื่อวันที่ 13 ส.ค. วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กเอ” ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ได้นำ “โค้ชเช” เช ยอง ซอก หัวหน้าผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทย และทนายความ มายื่นเอกสารขอสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการ ต่อ พ.ต.อ.เอกพงษ์ กองนาค ผู้กำกับการฝ่ายกฎหมายและวินัย บก.อก.บช.ส. โดยมี “น้องเทนนิส” พร้อมด้วยผู้ฝึกสอน มาร่วมลงนามในเอกสารเป็นสักขีพยาน ซึ่งมีการสอบสัมภาษณ์และทดสอบทักษะความเป็นคนไทยประเมินเป็นคะแนนด้วย
“โค้ชเช” เผยว่า ตอนนี้ตนชื่อ “ชัชชัย เช” แล้ว การได้มาทำเรื่องโอนสัญชาติ รู้สึกดีใจมากๆ และขอขอบคุณ ผศ.พิมล และทุกคนที่ช่วยเดินเรื่องให้ทุกอย่างเต็มที่ ดีใจจริงๆ เพราะหวังมานานแล้วคือการได้เป็นคนไทย อยากช่วยพัฒนาเทควันโดไปยาวนาน อยากอยู่เมืองไทยนานๆ ตนและครอบครัวก็รักเมืองไทย อยู่เมืองไทยมา 20 ปี ทำอะไรไม่ได้หลายอย่าง เพราะเราไม่ได้เป็นคนไทย แต่หลังจากนี้คงได้เป็นคนไทยอย่างเต็มตัว ซื้อบ้านในเมืองไทย อยู่ไปตลอดชีวิต โดยตอนไปยื่นเอกสาร มีโอกาสได้สอบสัมภาษณ์ทดสอบความเป็นคนไทย ซึ่งผลออกมา 100 คะแนนเต็ม รู้สึกยินดี และอนาคตถึงตนจะมีชื่อไทยเป็น “ชัชชัย” แต่ก็ยังให้คนไทยทุกคนเรียกตนเองว่า “โค้ชเช” เหมือนเดิมได้
ผศ.พิมล กล่าวว่า วันนี้ได้พาโค้ชเช มายื่นเอกสาร ขอสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งโค้ชเชได้ยื่นเอกสารครบทั้งหมด ได้สอบสัมภาษณ์ พิมพ์ลายนิ้วแล้ว จากนี้ไปทุกอย่างอยู่ในมือภาครัฐ ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาครัฐจะดำเนินการได้เร็วเพื่อให้โค้ชเช เป็นคนไทยได้เร็วที่สุด และจะเป็นกำลังสำคัญของทีมเทควันโดไทยอย่างเต็มตัว เหตุผลของการที่โค้ชเช เป็นคนไทยมีประโยชน์หลายอย่าง คือ ทำผลงานให้ประเทศไทยเยอะมากทางการกีฬา เขาจะได้อยู่กับเราไปตลอดจนเกษียณ นอกจากนี้ โค้ชเช ยังจะได้เป็นอาจารย์ประจำสอนที่ ม.เกษตรศาสตร์ และยังช่วยสอนให้กับสโมสรอื่นๆ ในการพัฒนาเทควันโดไปทั่วประเทศอีกด้วย
ทางด้าน พ.ต.อ.เอกพงษ์ กองนาค ผู้กำกับการฝ่ายกฎหมายและวินัย บก.อก.บช.ส. เผยว่า กรณีของโค้ชเช ขอยื่นสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญ 5 ส่วน คือ 1. โค้ชเช ต้องมีอายุบรรลุนิติภาวะแล้ว 2. เรื่องความประพฤติ เราต้องตรวจสอบทั้งทางคดีอาญาและคดีความมั่นคงว่ามีคดีหรือไม่ 3. การมีอาชีพ ซึ่ง โค้ชเช มีอาชีพเป็นโค้ชทีมชาติ 4. มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี และ 5. ต้องมีความรู้ด้านภาษาไทย แต่เนื่องจากโค้ชเช เป็นผู้ที่ประกอบความดีความชอบ เข้าเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติสัญชาติ มาตรา 11(1) เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย
หลังจากนี้ เราจะตรวจสอบเอกสารต่างๆ ให้ครบทั้ง 5 ส่วน และเมื่อได้เอกสารครบถ้วนแล้วจะทำเรื่องเสนอไปที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะทำเรื่องเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองของมหาดไทย โดยมีอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธาน แล้วจะส่งเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีปลัดกระทรวง เป็นประธาน ซึ่งถ้าผ่านความเห็นชอบแล้ว จะส่งต่อไปให้รัฐมนตรีพิจารณา จากนั้น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอสำนักงานราชเลขาธิการ นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
จากนั้น “โค้ชเช” จะต้องมาทำการปฏิญาณตนว่าจะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย แล้วถึงจะส่งเรื่องกลับไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่าโค้ชเช ได้สัญชาติไทยเรียบร้อย และจะนำเอกสารนี้มาขอหนังสือรับรอง เป็นหนังสือสำคัญจากสันติบาล แล้วจะนำไปขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ถึงจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่เนื่องจากว่าผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติ ให้ความสนใจ ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล รวมถึงกระทรงมหาดไทย อาจทำให้ใช้เวลาเร็วขึ้น.