สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ว่า องค์การอัปสราแห่งชาติกัมพูชา ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับ การค้นพบหัวพญานาคทำจากหินทรายอายุหลายร้อยปี บริเวณใกล้กับปราสาทเทพพระนาม ภายในเมืองโบราณนครธม ของอุทยานโบราณคดีอังกอร์ หรือหมู่ปราสาทนครวัด


ทั้งนี้ รูปแกะสลักดังกล่าวได้รับการค้นพบเมื่อต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งล้มลง ทำให้สิ่งของที่ฝังอยู่ในดินเป็นเวลานานหลายปีปรากฏขึ้นจากรากของต้นไม้

ภาพจากองค์การอัปสราแห่งชาติกัมพูชา : รูปแกะสลักหัวพญานาค ซึ่งมีการค้นพบ ในจังหวัดเสียมราฐของกัมพูชา


นายโชค โสมาลา หัวหน้าทีมจดทะเบียนงานศิลปะจากสำนักอนุรักษ์อนุสรณ์สถา นและโบราณคดีเชิงป้องกันขององค์การอัปสรา กล่าวว่า รูปแกะสลักหัวพญานาคถูกฝังใต้ดินลึกครึ่งเมตร เมื่อต้นไม้ล้มลงจึงพบรูปแกะสลักที่รากของต้นไม้ ซึ่งเป็นหัวส่วนบนขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.2 เมตร และหนา 0.3 เมตร

เบื้องต้นมีการสันนิษฐานว่า รูปแกะสลักหัวพญานาคแบบบายนนี้ อาจมีการสร้างขึ้นพร้อมกับปราสาทบายน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ถึงต้นศตวรรษที่ 13 ระหว่างยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7


ด้านข้อมูลจากองค์การอัปสราแห่งชาติระบุว่า ขณะนี้รูปแกะสลักหัวพญานาคที่ได้รับการค้นพบข้างต้นได้รับการนำไปเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑ์พระนโรดมสีหนุ-อังกอร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


อนึ่ง อุทยานโบราณคดีอังกอร์มีอาณาเขตประมาณ 401 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดเสียมราฐ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก ) ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2535.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA