สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ว่าเรือนจำเมืองอึยวาง ในจังหวัดคย็องกี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาหลีใต้ ปล่อยตัวนายอี แจ-ยอง วัย 53 ปี รองประธานบริหารของบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น
นายอี แจ-ยอง คือหนึ่งในนักโทษ 810 คน ซึ่งจะได้ออกจากเรือนจำก่อนกำหนดภายใต้เงื่อนไข หรือการภาคทัณฑ์ประจำปีนี้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ปฏิบัติเนื่องในโอกาสวันฉลองอิสรภาพเกาหลี ตรงกับวันที่ 15 ส.ค.ของทุกปี ด้วยการให้อภัยโทษ และลดโทษเป็นกรณีพิเศษ ให้กับนักโทษที่เข้าเกณฑ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความสมานฉันท์ภายในประเทศ
อนึ่ง ศาลไฮคอร์ตในกรุงโซลมีคำพิพากษาเมื่อเดือน ม.ค.ปีนี้ ว่านายอี แจ-ยอง นักธุรกิจชื่อดังของเกาหลีใต้ มีความผิดจริงในข้อหาติดสินบน ฉ้อโกง และปิดบังซ่อนเร้น ซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 8,600 ล้านวอน ( ราว 245.07 ล้านบาท ) ซึ่งผู้ที่ได้รับ "ผลประโยชน์โดยตรง" จากความผิดของจำเลย คืออดีตประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ และนางชเว ซุน-ซิล เพื่อนของอดีตผู้นำหญิง
ศาลพิพากษาให้นายอี แจ-ยอง รับโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง โดยให้นับต่อจากการรับโทษแล้วประมาณ 1 ปี ระหว่างปี 2560 ถึง 2561 เท่ากับว่านายอี แจ-ยอง ต้องรับโทษในเรือนจำต่ออีกประมาณ 18 เดือน และจนถึงตอนนี้เท่ากับว่า นายอี แจ-ยอง รับโทษจำคุกเกิน 60% ของบทลงโทษแล้ว เข้าข่ายขอรับการพิจารณาปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไข
ขณะที่นายอี แจ-ยอง กล่าวสั้น ๆ ต่อกองทัพผู้สื่อข่าวซึ่งรวมตัวกันอยู่หน้าเรือนจำ ว่าเขาเสียใจอย่างยิ่ง และขอโทษทุกฝ่ายจากใจจริง ด้านทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโซลเผยแพร่แถลงการณ์ของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน เกี่ยวกับการลดโทษให้นายอี แจ-ยอง ซึ่งในทางพฤตินัยถือเป็น "ผู้บริหารตัวจริง" ของซัมซุง ว่า "เป็นการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และหวังว่าชาวเกาหลีใต้จะเข้าใจ"
อย่างไรก็ตาม นายอี แจ-ยอง จะยังไม่สามารถกลับเข้าไปบริหารซัมซุงได้ทันที หลังได้รับอิสรภาพ เนื่องจากกฎหมายอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ห้ามบุคคลซึ่งต้องคดีที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 500 ล้านวอน ( ราว 14.25 ล้านบาท ) ทำงานให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับความผิดนั้น เป็นเวลา 5 ปี โดยการนับเวลาจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่บุคคลนั้นได้รับอิสรภาพ "ยกเว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ".
เครดิตภาพ : AP