ทีมนักกีฬาพาราทีมชาติไทย ที่กำลังเตรียมพร้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24 ส.ค.-5 ก.ย.64 โดย นักกีฬาพาราไทย ได้สิทธิเข้าร่วมชิงชัยทั้งหมด 75 คน จาก 14 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย เทควันโด, ยิงธนู, แบดมินตัน, วีลแชร์ฟันดาบ, ยกน้ำหนัก, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, กรีฑา (ลู่-ลาน, วีลแชร์เรซซิ่ง), จักรยาน, ยิงปืน, วีลแชร์เทนนิส, บอคเซีย, ฟุตบอลตาบอด และยูโด ในส่วนของทีมกรีฑาพาราไทย คว้าโควตาได้ 13 คน (กรีฑา ลู่-ลาน 5 คน, วีลแชร์เรซซิ่ง 8 คน) และเก็บตัวฝึกซ้อมในโค้งสุดท้ายที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา, สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี และสนามศุภชลาศัย นั้น

“บิ๊กนิดหน่อย” นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วีลแชร์เรซซิ่ง เป็นกีฬาพระเอกของไทย ในศึกพาราลิมปิกเกมส์ หลายสมัย ผลงานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีมาตรฐานที่ไม่เคยตก นักกีฬาหน้าใหม่มีการพัฒนาการที่ดีขึ้น ส่วนนักกีฬาเก่า ก็ยังคงรักษาผลงานเอาไว้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ประวัติ วะโฮรัมย์, พงศกร แปยอ หรือ “ฟิว” อธิวัฒน์ แพงเหนือ วัย 18 ปี ซึ่งตนเชื่อว่าทีมวีลแชร์ไทย จะประสบความสำเร็จในพาราลิมปิกเกมส์ 2020 แน่นอน

นายสุพรต เพ็งพุ่ม หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมวีลแชร์เรซซิ่งไทย เผยว่า นักกีฬาชุดนี้เก็บตัวฝึกซ้อมมายาวต่อเนื่อง 4 ปี จึงมีความพร้อมอย่างมาก ส่วนเป้าหมายหากจะบอกว่าได้กี่เหรียญทอง คงจะเป็นการกดดันนักกีฬาเกินไป แต่พูดได้เต็มปากว่าทีมวีลแชร์เรซซิ่งไทย มีโอกาสลุ้นเหรียญรางวัลทุกรายการ

ขณะที่ “กร” พงศกร แปยอ ดีกรี 2 เหรียญทอง รายการ 400 ม. และ 800 ม. T53 ในศึกพาราลิมปิกเกมส์ 2016 กล่าวว่า พร้อมเกินร้อยแน่นอนและยังทำสถิติได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายคือการป้องกันแชมป์เอาไว้ให้ได้ โดยเฉพาะ 400 ม. ที่ตั้งใจว่าจะต้องทำลายสถิติโลกให้ได้ เพราะในการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ต้นปีที่ผ่านมา เคยทำลายสถิติโลกรายการนี้มาแล้ว จึงมั่นใจว่าจะทำได้แน่นอน

ส่วน จิระศักดิ์ ปลาทิพย์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาคนตาบอดทีมชาติไทย เผยว่า เรามีนักกีฬา 2 คน ลงแข่งขัน คือ สุนีย์ภรณ์ ถนอมวงค์ (กรีฑาลู่) และ เจนจิรา ปัญญาทิพย์ (กระโดดไกล) ส่วนความหวังเหรียญน่าจะอยู่ที่ สุนีย์ภรณ์ เพราะเคยได้เหรียญทองแดง ในศึกชิงแชมป์โลกมาแล้ว.