จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ผ่านมา 19 เดือน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากลวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ความก้าวหน้าด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ : สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยขึ้น”

“จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) พบว่า ภายหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ ยังมีปัญหาในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ความล่าช้าในการส่งต่อผู้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากยังไม่พร้อมให้บริการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อ (Refer) ไปยังสถานบริการอื่นที่พร้อมให้บริการ ซึ่งอาจทำให้อายุครรภ์ของผู้หญิงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และประสบปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น นอกจากนี้ ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลแหล่งบริการโรงพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่ง กสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้อง” นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดภาพรวมถึงปัญหาของการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย หลังมีกฎหมายออกมา

การเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประจำกติกา ICCPR เห็นว่า การขาดบริการฉุกเฉินด้านสูติกรรมหรือการปฏิเสธการทำแท้งมักนำไปสู่การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้หญิงที่เป็นมารดา ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในการมีชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดี

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันการขยายการบริการเป็นที่ทัศนคติไม่ใช่แค่แพทย์อย่างเดียว พยาบาลไม่ปฏิบัติ เภสัชไม่ยอมสั่งยา ผอ.โรงพยาบาลไม่อนุมัติ เพราะมีความเชื่อที่ผ่านกระบวนการหล่อหลอมว่าบาป ทำให้คนไข้ที่ถูกปฏิเสธแล้วไปทำแท้งเถื่อนจนมีอาการร่อแร่เกือบเสียชีวิต อยากให้มองการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องทางการแพทย์ เป็นบริการปกติที่ทุกโรงพยาบาลควรมีบริการ ซึ่งเข้าใจว่าบางที่ไม่สะดวกที่จะให้บริการกรณีที่ท้องไม่พร้อม แต่กรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ควรให้บริการได้เพื่อสร้างความคุ้นเคย การบริการลักษณะนี้บางโรงพยาบาลไม่มีบริการต้องอาศัยความร่วมมือกับราชวิทยาลัย หรือสูตินรีแพทย์ และแพทยสภา อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาที่หลายโรงพยาบาลไม่รับบริการยุติการตั้งครรภ์ กรมอนามัยมีแนวนโยบายที่จะยุติการตั้งครรภ์แบบเทเลเมดิซีน โดยใช้ยา เพราะมีข้อดีคือ 1. ปลอดภัย 2. ใช้ง่ายมากกินเหมือนยาทั่วไป เพราะมองว่าเมื่อขจัดอุปสรรคจนยาเข้าถึงคนไข้ได้แล้ว เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาทางโรงพยาบาลจะไม่ปฏิเสธเหมือนกับการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เพราะขณะนี้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเทคโนโลยีไม่ติดขัด ด้านกฎหมายไม่มีปัญหา คิดว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการใช้ระบบเทเลเมดิซีน ซึ่งราคาค่ายายุติการตั้งครรภ์อยู่ที่ 280 บาทต่อชุด

บริการยุติการตั้งครรภ์สามารถเบิกจ่าย ค่ารักษาจาก สปสช. ได้เมื่อเข้ารับบริการในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่อยู่ในหน่วยบริการ

นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาประจำกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริม สุขภาพป้องกันโรค สปสช. กล่าวถึงบริการของ สปสช.ว่าไม่ได้ทำหน้าที่บริการยุติการตั้งครรภ์ แต่ทำหน้าที่ด้านการเงิน และควบคุมมาตรฐานการบริการ ถ้าหน่วยบริการปกติไม่สามารถให้บริการได้ สปสช.พยายามหาหน่วยบริการจากภาคเอกชนเข้ามา ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2566 ได้ปรับการจ่ายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ โดยผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถขอคำปรึกษา ตรวจร่างกายในหน่วยบริการแม้ไม่มีบริการยุติการตั้งครรภ์ก็ตาม 360 บาทต่อครั้ง โดย สปสช.จ่ายให้หน่วยบริการ เช่นเดียวกับบริการตรวจอัลตราซาวด์ต่อการตั้งครรภ์ 400 บาท หมายถึงทำกี่ครั้งก็ได้ และบริการยุติการตั้งครรภ์จ่ายแบบเหมาจ่าย 3,000 บาทต่อการตั้งครรภ์ และหากหน่วยบริการไม่สามารถทำได้ขอให้ส่งต่อพร้อมผลตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งมีกฎหมายประกาศออกมาบังคับใช้แล้ววันที่ 1 ต.ค. 2565

รศ.พญ.อรวี ฉินทกานนท์ เครือข่ายอาสา RSA กล่าวว่า ตัวเองเคยพบกรณีคนไข้ตายคามือมาแล้ว เพราะติดเชื้อจากการเข้ารับบริการทำแท้งเถื่อน การยุติการตั้งครรภ์ในบทบาททางการแพทย์คือการรักษาโรคโรคหนึ่งที่แพทย์ต้องเข้าช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย มีส่วนช่วยลดจำนวนคนไข้ที่นอนโรงพยาบาลได้ เมื่อสถานบริการทำไม่ได้ต้องส่งต่อเพราะปัจจุบันไม่มีกำแพงทางกฎหมายแล้ว แต่กลับพบว่าบางสถานที่ยืดเวลาออกไป ทำให้คนไข้อายุครรภ์เกินที่จะยุติการตั้งครรภ์ หรือไม่เขียนใบส่งต่อทำให้ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบัน RSA มีเครือข่ายแพทย์ 174 ท่าน มีทีมสหสาขา 700 ท่าน

“คนที่เข้ามาขอคำปรึกษา1663 หลังจากกฎหมายรองรับ ทำให้ตัวเลขการรับส่งต่อมาที่ RSA น้อยลง และหมอหลาย ๆ ท่านเขามั่นใจที่จะช่วยคนไข้มากขึ้น หมอรุ่นใหม่มีความสนใจให้บริการ ที่ผ่านมามีการเก็บค่านายหน้าบอกว่าจะพามาที่ RSA โดยที่หมอไม่รู้เรื่องเลย แต่เมื่อกฎหมายรองรับพบว่าการหลอกลวงหายไป” รศ.พญ.อรวี กล่าว

1663 บริการสายด่วนบริการคำปรึกษาเพื่อยุติการตั้งครรภ์และหาทางออกให้มีระบบส่งต่อคนไข้เพื่อหาสถานบริการ ตัวเลขของผู้โทรฯ สายด่วน จากสถิติมีผู้โทรฯ เข้ามาปีละ 40,000 ราย ระหว่างเดือน ก.ย. 2564-ส.ค. 2565 มีผู้โทรฯ มาปรึกษาและต้องการยุติการตั้งครรภ์ถึง 30,766 คน ในจำนวนนี้มี 180 คนที่แจ้งว่าถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อ อย่างไรก็ตาม พบว่าจากข้อมูลโครงการ การติดตามระบบการบริการยุติการตั้งครรภ์และพัฒนานวัตกรรมบริการนวัตวิถี (New Normal) ในบริบทกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่ที่สนับสนุนโดย สสส. พบว่า ณ เดือน ส.ค. ไทยมีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจำนวน 110 แห่ง ส่วนใหญ่ ให้บริการในอายุครรภ์ตํ่ากว่า 12 สัปดาห์ ขณะเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่มีสถานบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

รศ.ดร.กฤติยา อาชวนิจกุล เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่าปัญหาท้องไม่พร้อมและจำเป็นต้องท้องต่อ เป็นปัญหาที่มองไม่เห็น สังคมไทยมือถือสากปากถือศีล เมื่อเขาจำเป็นต้องท้องต่อต้องมีทางเลือก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต้องเข้าใจปัญหานี้ หากทำให้การเกิดไม่มีคุณภาพ จะทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมสูงขึ้นจากประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศ

“การยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้ทำให้ประชากรเกิดน้อย ในฐานะที่ทำงานในสถาบันวิจัยประชากรมา 50 ปี มีงานวิจัยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973-2020 มีความต้องการของผู้หญิงต้องการทำแท้งตลอดเวลา เมื่อไปดูประวัติศาสตร์พันปี คือปัญหาเก่าแก่ของสังคมมนุษย์ไม่เกี่ยวกัน สัดส่วนยุติการตั้งครรภ์มีปีละ 2 แสนคน”

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้วอัตราการเกิดตํ่า จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สังคมทวงถามว่ารัฐควรจะมีระบบจัดการเรื่องการยุติการตั้งครรภ์กับอัตราการเกิดน้อยให้สัมพันธ์กันได้หรือไม่ ซึ่งในเวทีเสวนา นพ.บุุญฤทธิ์ ให้มุมมองว่า ปัญหาที่เด็กเกิดน้อย ถ้ารัฐสามารถจัดสวัสดิการให้เพียงพอสำหรับหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อทุกคนจะวิน ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจมีลูกยากมาก เพราะฉะนั้นคนที่ท้อง รัฐควรสนับสนุนให้เลี้ยงดูแบบมีคุณภาพ จะทำให้ประเทศได้ประชากรที่มีคุณภาพมาหนึ่งคน หมอจาก RSA ก็ไม่ต้องทำแท้ง คนที่ทำอยู่ก็เกิดแรงต้านน้อยลง สังคมโดยรวมได้ประโยชน์หลายทาง ควรขับเคลื่อนประเด็นนี้

อีกทางออกของที่เกินไปจากการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย แต่มีทางเลือกทางรอดที่ดีพอให้ผู้หญิงท้องต่อ.