ด้วยคุณสมบัติความโดดเด่นของเส้นใยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความนุ่ม เบาสบาย หรือระบายอากาศได้ดี ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้กับผืนผ้า…

เส้นใยธรรมชาติจากพืชอีกหลายชนิดยังได้รับการตอบรับ นำมาเพิ่มขีดความสามารถให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพิ่มทางเลือก วัสดุใหม่ ๆ ให้กับผืนผ้า การได้รู้จักคุณสมบัติ รู้จักชนิดของเส้นใยยังส่งผลต่อการดีไซน์ ผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้ตรงใจตรงความต้องการ สร้างจุดเด่น จุดขายได้ชัดเจน ทั้งนี้พาสัมผัสเรื่องน่ารู้ น่าสนใจจากเส้นใยธรรมชาติ โดยเฉพาะเส้นใยจากพืช จากเศษวัสดุเหลือทิ้งภาคการเกษตร “ผักตบชวา” และ “เส้นใยกล้วย” เส้นใยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ว่า ถ้าพูดถึงเรื่องเส้นใยในงาน สิ่งทอมีอยู่สองส่วนใหญ่ ๆ คือ เส้นใยธรรมชาติและเส้นใยประดิษฐ์ 

ในส่วนของ เส้นใยธรรมชาติ จะเห็นว่าช่วงปีหลัง ๆ มาแรง และมีความเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในส่วนของเส้นใยธรรมชาติจะมีที่กล่าวถึงทั้งที่เป็นราชาและราชินีเส้นใย โดยราชาเส้นใยคือ เส้นใยฝ้าย เป็นเส้นใยสั้น มีหลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีขาว ขาวตุ่น สีน้ำตาล ฯลฯ อีกทั้งปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่าง ๆ ออกมาอีกมาก

 ในความเป็นราชาเส้นใยก็ด้วยที่มีความสวยงาม มีความนุ่ม สวมใส่สบาย ให้ความอบอุ่น ฯลฯ ส่วนราชินีของเส้นใย ในด้านความสวยงามยกให้กับ ไหมหม่อน ไหมที่กินอาหารจากใบหม่อนอีกทั้งมีไหมธรรมชาติ ไหมอี่รี่ ซึ่งเป็นไหมป่า โดยเส้นใยไหมจะมีความสวยงามที่ต่างกันไป   

“เส้นไหมหม่อน มีความเงามันสวยเป็นเส้นใยยาว กลมเกลี้ยงสะท้อนแสงได้ดี ทั้งเป็นเส้นใยธรรมชาติชนิดเดียวที่จัดอยู่ในกลุ่มเส้นใยยาว มีคุณสมบัติเด่นมาก ส่วนไหมป่า คุณลักษณะทางเคมีจะคล้าย ๆ กับไหมกินหม่อน แต่ลักษณะทางกายภาพ เส้นใยที่ได้จะคล้ายเส้นใยฝ้าย เป็นเส้นใยสั้น ให้อารมณ์นุ่ม เบา แต่ก็ยังคงเป็นเส้นใยจากสัตว์ ขณะที่ฝ้ายเป็นเส้นใยจากพืช”

คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.สาคร ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ในความเป็นเส้นใยสั้น และเส้นใยยาวก็มีเรื่องน่ารู้เช่นกัน เส้นใยสั้น ถ้าดูจากผืนผ้าจะมีปลายของเส้นใยให้เห็น ให้ความอบอุ่น นุ่ม เบาสบาย ส่วนเส้นใยยาวจะไม่มีปลายของเส้นใยปรากฏ จะเกลี้ยงไปตามความยาวของเส้นใย ในความเกลี้ยงจะส่งผลต่อการสะท้อนแสง อีกทั้งเส้นใยยาวยังส่งผลดีต่อความแข็งแรง การปั่นเส้นด้ายก็จะง่าย ลดขั้นตอนการตีเกลียว ฯลฯ แต่อย่างไรแล้วกว่าจะมาถึงผืนผ้า หลังจากที่ได้เส้นใยแล้วไม่ว่าจะเป็นเส้นใยจากพืชหรือสัตว์มีกระบวนการที่เหมือนกัน ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกใช้เส้นใยในกลุ่มใด

“ในเชิงสิ่งทอ เส้นใย จะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด เป็นจุดเริ่มต้น ส่วนขั้นตอนต่อมา เส้นด้าย จะนำเส้นด้ายมาทอเป็นผืนผ้าและส่ง ต่อไปยังผลิตภัณฑ์ โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์จะเลือกสร้างสรรค์สิ่งใด ๆ ก็จะโยงกลับมาหาหน่วยที่เล็กที่สุด ซึ่งก็คือ เส้นใย การรู้จักเส้นใยจึงมีความสำคัญ เป็นหัวใจ โดยเส้นใยจะเป็นทั้งจุดขาย จุดที่สร้างอัตลักษณ์ สร้างความต่างความโดดเด่น”

ในช่วงปีหลัง ๆ จากที่กล่าว เส้นใยธรรมชาติได้รับการกล่าวถึง ทั้งนี้ด้วยเพราะคุณลักษณะของเส้นใยธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผืนผ้าแต่ละผืนกว่าจะหมดอายุลงใช้งานได้ยาวนาน ที่ผ่านมานักวิจัยต่างศึกษาทดลอง นำเศษวัสดุที่เหลือใช้ในกระบวนการต่าง ๆ นำมาสร้างสรรค์เส้นใย สร้างประโยชน์ต่อเนื่อง ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงภาวะโลกร้อน ซึ่งก็เป็นเหตุผล เป็นคำตอบที่เส้นใยธรรมชาติถูกหยิบยกขึ้นมา เป็นเทรนด์โดยได้รับความนิยม 

ในกลุ่มเส้นใยจากพืช สำหรับประเทศไทย นอกจากฝ้ายซึ่งนำเส้นใย เส้นด้ายทอเป็นผืนผ้า ใช้กันมายาวนาน พืชอีกหลายชนิดก็มีความน่าสนใจ นำมาพัฒนาสร้างสรรค์ สร้างความหลากหลายในด้านวัสดุสิ่งทอ ยิ่งกับ เศษพืชวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อาจารย์นักวิจัยเส้นใยธรรมชาติ ผศ.ดร.สาคร เล่าเพิ่มอีกว่า พืชหลายชนิดนำมาแปรรูปได้ไม่ว่าจะเป็น บัว ตาล สับปะรด มะพร้าว กล้วย ผักตบชวา ฯลฯ โดยทางคณะฯเราศึกษาวิจัยต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับ เส้นใยผักตบชวา ศึกษามายาวนานกว่าสิบปีรวมถึงขยายไปยัง เส้นใยกล้วย โดยปัจจุบันนักวิจัยต่อยอดออกแบบสร้างลวดลาย เพิ่มคุณสมบัติให้กับเส้นใย รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน

“พืชหลายชนิดมีคุณสมบัติน่าสนใจ นำมาพัฒนาสร้างสรรค์เส้นใย ทอเป็นผืนผ้าได้ แต่อย่างไรแล้วคงต้องย้อนกลับไปที่ผลิตภัณฑ์ ดังที่กล่าวผู้ใช้ต้องรู้จักและเลือกใช้เส้นใยให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นที่ต้องใจของผู้บริโภคไปถึงปลายทาง ทั้งยังเหมาะกับกลุ่มอาชีพ อย่างเช่น ถ้าเป็นเส้นใยใหญ่คงไม่เหมาะที่จะเป็นเครื่องแต่งกาย อาจนำมาใช้สำหรับเคหะสิ่งทอ สร้างสรรค์เป็นผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ฯลฯ หรือกลุ่มที่ทำโคมไฟ กระเป๋า ถักพรม งานจักสาน มีโอกาสได้ใช้เส้นใยธรรมชาติลักษณะต่าง ๆ เพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ”

จากที่กล่าวสิ่งทอที่ต้องการเส้นใยธรรมชาติในปัจจุบันยังคงเป็นที่ต้องการ ติดเทรนด์ ทั้งนี้ผืนผ้าจากเส้นใยพืช จากวัสดุเหลือใช้เหลือทิ้งทางการเกษตร เมื่อนำมาผลิตเป็นผืนผ้ายังมีสตอรี่บอกเล่า ให้ความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมดูแลธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาระขยะ ฯลฯ สร้างความแตกต่าง ความน่าสนใจให้กับสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติจากพืช

“เส้นใยจากผักตบชวาและกล้วย จากที่ศึกษาวิจัยต่อเนื่อง มีความน่าสนใจหลายด้าน โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต พืชสองชนิดนี้หาได้ง่ายและมีอยู่มาก อย่างเช่น ผักตบชวา เมื่อนำมาแยกสกัดเส้นใย พบว่า เส้นใยผักตบชวามีน้ำหนักเบามากถ้าเทียบกับวัสดุอื่น ๆ และถ้าเปรียบเทียบกับฝ้าย จะมีความแข็งแรง และช่องว่างของเส้นใยมีขนาดกว้าง ซึ่งมีข้อดี สามารถระบายความร้อนได้ดี เมื่อนำมาตัดเย็บชุดเสื้อผ้า สวมใส่สบาย”

ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร
ผศ.ดร.ศุภนิชา และ ดร.ชนากานต์

ส่วนใยกล้วยถ้าเทียบกับลำต้นผักตบชวา เส้นใยกล้วยจะใหญ่กว่าและแข็งแรง มีความเงางามกว่า แต่ในความนุ่ม ผักตบชวาจะนุ่มกว่า จากที่กล่าวมีการวิจัยพัฒนาต่อยอด โดยเส้นใยผักตบชวา ผศ.ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ นักวิจัยเล่าถึงการต่อยอดว่า จากความมีเสน่ห์ของเส้นใยผักตบชวา ได้ใช้ธรรมชาติของใยพืชล้วน ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ นับแต่กระบวนการแรกนำมาทอ สีธรรมชาติของผักตบชวาที่ได้จะมีเฉดสีขาวนวล ๆ น้ำตาลอ่อน ๆ

“ในความมีเสน่ห์เหล่านี้อยากให้ผู้บริโภค หรือใครก็ตามที่มีความชื่นชอบในผืนผ้าที่มีความเป็นธรรมชาติ ได้เห็นมุมมองความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยเมื่อได้ผ้าที่เป็นธรรมชาติมาแล้ว ยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีเสน่ห์ และนอกจากการต่อยอดนำมาพัฒนาเป็นเครื่องแต่งกาย ยังนำมาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เนกไท กระเป๋า นำมาออกแบบตัดเย็บเป็นตุ๊กตา ทั้งสามารถนำผ้าจากเส้นใยผักตบชวาไปใช้เทคนิคอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การทำ อีโคพรินท์ ทั้งสามารถเพิ่มสีสัน สามารถนำไปย้อมคราม ได้ผืนผ้าสีน้ำเงินที่มีเอกลักษณ์”

นอกจากนี้กำลังปรับสภาพเส้นใยให้มีความนุ่มไปอีกขั้น โดยเส้นด้ายจะให้ผิวสัมผัสเรียบ คุณภาพของเส้นด้ายมีความแข็งแรง สามารถนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายขนาดเล็ก และเมื่อมีขนาดที่เล็กลง จะสามารถนำไปทำผ้าถักในระบบอุตสาหกรรมได้ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองในงานวิจัย 

ทางด้าน เส้นใยกล้วย ดร.ชนากานต์ เรืองณรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยพัฒนาและบริการวิชาการ นักวิจัยอีกท่านหนึ่งเล่าเพิ่มว่า ในการวิจัยต่อยอดจะมีทั้งเรื่องการปรับปรุงคุณภาพเส้นใย ให้ใยกล้วยมีความนุ่มขึ้น มีความมันวาว ทั้งพัฒนาในเรื่องลายทอ โดยจัดทำเป็นลายใบตองซึ่งมีความสอดคล้องบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของวัสดุ

อีกส่วนหนึ่งคือ อีโคพรินท์ นำผ้าทอมือใยกล้วยมาพิมพ์ลาย ด้วยดอกไม้ ใบไม้ เล่าอัตลักษณ์ของชุมชนผ่านผืน ผ้า โดยใบไม้ ดอกไม้เหล่านี้ให้สีสันสวยและปลูกอยู่ในชุมชนที่นำองค์ความรู้ถ่ายทอด ทั้งนี้ เส้นใยธรรมชาติจากใยกล้วยเป็นอีกส่วนหนึ่งของผืนผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หลังการเก็บผลผลิตแล้ว ต้นกล้วยจะถูกตัดทิ้ง นอกจากนำไปทำปุ๋ย จากการศึกษาวิจัยสามารถนำกลับมาทำเป็นเส้นใย นำของที่มีอยู่และเหลือทิ้งนำกลับมาสร้างสรรค์สร้างประโยชน์

เส้นใยกล้วยนอกจากมีคุณสมบัติเด่น มีความเหนียวและความแข็งแรง ยังมีความโดดเด่นอีกหลายส่วน โดยสามารถนำมาทอเป็นผืนผ้า ทั้งนำมาสร้างลวดลายสะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งจากพืชธรรมชาติที่มีเส้นใย มีคุณค่า และมีเอกลักษณ์

เติมความงามให้กับผืนผ้า เพิ่มความหลากหลายในด้านวัสดุและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ