ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!! ว่าโลกยุคใหม่นี้อยู่ได้ยากจริง ๆ ใครปรับตัวไม่ทันรับมือไม่ได้ ก็ต้องมีอันตกขอบไป ดังที่ให้เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกใบนี้ กำลังก้าวไปสู่โลกของ “คนรุ่นใหม่”

เห็นกันชัด ๆ ก็ในไทยนี่แหละ ที่ “พลังของคนรุ่นใหม่” นั้นมีล้นเหลือ จนนำไปสู่สารพัดเหตุการณ์ นำไปสู่สารพัดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านดีและด้านร้าย

ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของธรรมชาติ ที่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ คนเราก็เช่นกัน ย่อมมีทั้งด้านสว่างและด้านมืด ไม่มีใครมีเพียงด้านสว่าง หรือด้านมืดเพียงอย่างเดียว

แต่!! โลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ต้องพึงระวังไม่น้อยเช่นกัน โดยข้อมูลจากแบงก์ชาติล่าสุด ระบุไว้ชัดเจนจนกลายเป็นที่น่ากังวล คือ คนรุ่นใหม่ยังขาดความมั่นคงในอนาคต ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อย่าลืมว่า…ทุกวันนี้ เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้โงหัวขึ้นอย่างเต็มที่ อัตราการเติบโตก็ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น คนไทยทั้งประเทศ นั่นก็หมายรวมถึง “คนรุ่นใหม่” ที่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยกระแสดิสรัปชั่นต่าง ๆ ที่เข้ามา รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ก็ทำให้การปรับตัวของคนรุ่นใหม่ยังก้าวตามไม่ทัน

แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คงหนีไม่พ้น เรื่องของการก่อหนี้ ที่พบว่า คนรุ่นใหม่ เริ่มก่อหนี้ เป็นหนี้เร็วขึ้น และยังกลายเป็นหนี้เสีย ตั้งแต่อายุยังน้อย

กว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี ปรากฏว่า มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือหนี้จากบัตรเครดิต และ 1 ใน 5 ของคนที่เป็นหนี้เสีย ก็กระจุกตัวกันอยู่ในกลุ่มของลูกหนี้ที่มีช่วงอายุ 29 ปี

ต้องยอมรับว่า…ปัจจุบันไทยมีหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น แบ่งเป็นเงินกู้ซื้อบ้าน บัตรเครดิต เช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมกันมากถึง 9 ล้านล้านบาท

เมื่อแบ่งตามกลุ่มช่วงอายุแล้ว จะพบว่าบรรดาผู้ที่อายุ 22-41 ปี หรือคนเจนวายหรือคนรุ่นใหม่ เป็นหนี้มากที่สุดถึง 4.5 ล้านล้านบาท แถมยังกลายเป็นหนี้เสียถึง 3 แสนล้านบาท

ส่วนคนที่ช่วงอายุ 42-56 ปี หรือเจนเอ็กซ์ จะเป็นหนี้ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ส่วนพวกเบบี้บูมเมอร์ หรือที่มีอายุตั้งแต่ 57 ปี ขึ้นไป มีสัดส่วนหนี้ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียประมาณ 70,000 ล้านบาท

ส่วนคนที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป มีหนี้อยู่รวมกันประมาณ 26,000 ล้านบาท และเป็นหนี้เสียเพียงแค่ 1,200 ล้านบาท เท่านั้น

ขณะที่ยอดเฉลี่ยของคนที่มีอายุ 20-80 ปี ใน 100 คน จะมีหนี้เสียอยู่ประมาณ 16 คน และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 17 คน 18 คน ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มคนช่วงอายุ 22 ปี พบว่า ใน 100 คน จะกลายเป็นหนี้เสียมากถึง 24 คน

การที่คนไทยรุ่นใหม่ไม่มีความมั่นคงในอนาคตนี้ เกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งมาจาก การที่ระบบต่าง ๆ ในประเทศไทย ปรับเปลี่ยนไม่ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกไว้ว่า นอกจากคนรุ่นใหม่จะขาดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังขาดความมั่นคงทางด้านสังคม และขาดความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

แน่นอนว่า!! ความไม่มั่นคงในอนาคตเหล่านี้ จะบั่นทอนแรงจูงใจ ความพร้อมและโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาทักษะลงทุนบุกเบิกธุรกิจใหม่ ๆ และก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

ด้วยเหตุนี้!! ได้ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่พร้อมรับมือกับอนาคต!!

ข้อมูลและความห่วงใยของแบงก์ชาติ น่าจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ “ตระหนัก” และฉุกคิดกันสักนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะออกนโยบายใด ๆ ก็ต้องคำนึงถึงความพร้อมของคนรุ่นใหม่

ไม่ใช่แค่เพียงต้องการคะแนนเสียง ต้องการฐานเสียง อย่างเช่น กรณีของความผลักดันในการแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู