เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ระบุว่า มองย้อนหลังยาต้านไวรัสโรคโควิด-19 ที่เข้า รพ.วิชัยยุทธ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง เริ่มด้วยยาตัวแรกฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาชนิดกิน เข้า รพ. 2 ปีก่อน วันที่ 30 ก.ย. 2563 หลังจากที่ผมเริ่มใช้ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปอดอักเสบและระบบหายใจล้มเหลวหลายคน ถึงแม้ผมจะให้เร็ว ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็ไม่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ปัจจุบันมีการศึกษาขนาดใหญ่เปรียบเทียบ ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่แตกต่างกับยาหลอกในการรักษาผู้ป่วย
ยาตัวที่ 2 เป็นยาชนิดฉีดเรมเดซิเวียร์ เข้า รพ.วิชัยยุทธ วันที่ 13 ก.ค. 2564 เมื่อใช้ยาตัวนี้ ผมพบว่ามีประสิทธิภาพดี ลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้จริง ช่วงนั้นผมจึงใช้ยาตัวนี้เป็นยาหลักในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูง เลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ชนิดฉีดมีราคาแพงมากในระยะแรก แต่ปัจจุบันราคาถูกลงมาก
ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพและเป็นยาชนิดกิน มาตามหลังยาเรมเดซิเวียร์ชนิดฉีด 1 ปี คือ ยาโมลนูพิราเวียร์ เพิ่งเข้า รพ.วิชัยยุทธ วันที่ 18 ก.ค. 2565 ตามมาด้วยยาแพกซ์โลวิดวันที่ 22 ก.ค. 2565 ยาทั้ง 2 ตัวมีประสิทธิภาพในการลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์อย่างเห็นได้ชัด
ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปีถึง มิ.ย. 2565 ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงยาโมลนูพิราเวียร์ ประเทศกัมพูชา และลาว มียาโมลนูพิราเวียร์ผลิตในประเทศอินเดียใช้แล้ว คนไข้ของผมหลายคนสามารถหายาโมลนูพิราเวียร์ได้เองจากประเทศเพื่อนบ้านในราคาไม่แพง เมื่อติดเชื้อ ผมอนุญาตให้กินยาโมลนูพิราเวียร์ที่ได้จากประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นเด็กและหญิงตั้งครรภ์ พบว่ายามีประสิทธิภาพดี ไม่ใช่ยาปลอม
คนไทยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงนี้ถือว่าโชคดีที่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตลงได้ ต่างจากการแพร่ระบาดในช่วงแรกๆที่มีแต่ยาฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น