น.ส.นิรัติศัย ทุมวงษา นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มาตรการล็อกดาวน์ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างชัดเจน แม้จะมีให้ส่งดิลิเวอรี่ได้ก็ตาม รวมทั้งยังขยายผลกระทบไปสู่ธุรกิจวัตถุดิบอาหารแล้ว คาดในครึ่งปีหลังธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหารจะเกิดความเสียหาย 130,000 ล้านบาท แต่หากล็อกดาวน์สิ้นสุดเดือน ก.ย.64 จะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 198,300 ล้านบาท และหากล็อกดาวน์สิ้นสุดเดือน ก.ย.64 แต่ปรับเป็นกึ่งล็อกดาวน์ในเดือน ต.ค.64 จะเกิดความเสียหายสูงถึง 259,600 ล้านบาท

ทั้งนี้หากแยกความเสียหายเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร จากการสูญเสียรายได้จากมาตรการล็อกดาวน์ และปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวร ทำให้มูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารในครึ่งปีหลังอยู่ที่ 107,500-214,600 ล้านบาท หรือหายไป 22-44% ของรายได้ร้านอาหารในปี 63 ขณะที่ความเสียหายของธุรกิจวัตถุดิบอาหารจะสูญเสีย 22,500 – 45,000 ล้านบาท กระทบหนักสุดคือ กลุ่มเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีสัดส่วนการผลิตสูงถึง 50% ของต้นทุนวัตถุดิบทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหาย 11,300-22,500 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มผักและผลไม้ ซึ่งเก็บรักษาได้ยาก โดยคาดว่าเสียหาย 6,000-12,200 ล้านบาท และต่อมาคือกลุ่มข้าวและธัญพืช คาดว่าจะเสียหาย 2,300-4,500 ล้านบาท

น.ส.จารุวรรณ เหล่าสัมฤทธิ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การขายอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นฟู้ดดิลิเวอรี่ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ธุรกิจร้านอาหาร หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ที่สั่งห้ามจำหน่ายอาหารหน้าร้าน แต่โดยรวมอาจสร้างรายได้เพียงช่วยพยุงกิจการให้คงอยู่ เนื่องจากกลยุทธ์นี้์อาจไม่เหมาะกับร้านอาหารบางประเภท เช่น ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ และร้านอาหารที่มีคุณภาพระดับสูงและบรรยากาศดี และโควิด-19 ที่รุนแรงในปัจจุบัน อาจส่งผลให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารจากร้าน แล้วหันมาทำอาหารเองที่บ้านมากขึ้น

นอกจากนี้การขายผ่านฟู้ดดิลิเวอรี่ พบว่าร้านอาหารยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากค่าจีพีที่เป็นค่าดำเนินการของแอพ เรียกเก็บ 20-30% ของยอดขาย จึงอาจทำให้ร้านอาหารแทบไม่มีกำไรในช่วงนี้ และหลายร้านเลือกปรับตัวใช้คลาวด์ คิทเช่น เป็นทางเลือก ซึ่งคลาวด์ คิทเช่น ไม่ต้องใช้หน้าร้าน เป็นครัวกลางให้ฟู้ดดิลิเวอรี่มารับอาหาร แต่ก็ยังเป็นแค่ทางรอดช่วงเวลานี้เท่านั้น โดยผลกระทบจากการคุมโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อให้สามารถพยุงกิจการ คาดว่าธุรกิจร้านอาหารในไทยคงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 2 ปี

“ภาระหนี้ของธุรกิจร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน อาจเหนี่ยวรั้งให้ธุรกิจร้านอาหารฟื้นตัวในระยะข้างหน้าได้ช้า โดยสิ้นไตรมาสแรกของปี 64 ยอดสินเชื่อของธุรกิจร้านอาหารจากทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 34,698 ล้านบาท เทียบกับปี 63อยู่ที่ 27,544 ล้านบาท หรือขยายตัวถึง 26%”