…นี่เป็นการระบุไว้โดย ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธาน มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ในฐานะหัวหน้า โครงการเสริมสร้างพลังของคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาภาคเกษตรและท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP 4.0) ซึ่งในส่วนของมูลนิธิฯ นั้นมีกิจกรรมเพื่อสังคมที่น่าสนใจ

หลักสูตร “คนกล้าคืนถิ่น” นี่ก็ส่วนหนึ่ง

ที่การขับเคลื่อนดำเนินถึง “นิยามใหม่”

ทั้งนี้ โครงการ “เสริมสร้างพลังของคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาภาคเกษตรและท้องถิ่น” นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “นิยามใหม่คนกล้าคืนถิ่น” ที่ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิฯ ดังกล่าวนี้ และจากข้อมูลที่เผยแพร่สู่คนไทยผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็นับว่าน่าพิจารณาไม่น้อย โดยมีบุคคลกรณีศึกษา เช่น พอลล่าจิราพร ทองใหม่ ที่ตัดสินใจ “กล้าคืนถิ่นเพื่อทำอาชีพเกษตรกรรม” เมื่อหลายปีก่อน โดยปักหลักทำอาชีพเกษตร ทำไร่ชื่อ “ไร่เคียงตะวัน” อยู่ที่ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

“ตั้งใจจะทำอย่างที่พ่อแม่เคยทำมา ที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก คือเป็นเกษตรกร แต่โจทย์คือทำ เกษตรแบบผสมผสาน-แบบเกษตรอินทรีย์ จึงเข้าอบรมหลักสูตรคนกล้าคืนถิ่นของมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทยเมื่อปี 2558 ซึ่งปัจจุบันมีรายได้จากพืชหลายชนิด” …คนกล้าคืนถิ่นรายนี้ระบุ ซึ่งปัจจุบันไร่เคียงตะวันเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ที่มีลูกค้าประจำทั้งในพัทลุงและจังหวัดข้างเคียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และยังเป็นสถานที่อบรมเกษตรผสมผสานให้กับผู้สนใจด้วย

จากเจตจำนงร่วมขยายการทำเกษตรยั่งยืน เกษตรกรกรณีศึกษารายนี้ และ “คนกล้าคืนถิ่น” ในพื้นที่อื่น รวม 25 คน ได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างพลังของคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาภาคเกษตรและท้องถิ่น ซึ่ง พอลล่าจิราพร สะท้อนไว้ว่า… หลักสูตรคนกล้าคืนถิ่นทำให้มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ รู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้วเริ่มจากสิ่งนั้น เช่น จากสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว บริบทพื้นที่ และที่สำคัญ ไม่ด้อยค่าตัวเอง มั่นใจในศักยภาพที่มี แล้วลงมือทำ จึงทำความฝันให้เป็นจริงได้ และอีกส่วนที่สำคัญมากคือ ได้เพื่อน ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและต่างพื้นที่…

“ได้เพื่อนที่มีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะใช้ศักยภาพของตัวเองมาเป็นพลังในการขยายเครือข่ายของผู้มีแนวคิดการทำเกษตรแบบยั่งยืน ขยายไปสู่เกษตรกรผู้สนใจรายอื่น ๆ ซึ่งการอบรมจะมีเพื่อนในเครือข่ายมาช่วยอยู่เสมอ”

ขณะที่ ดร.สุมิท ก็ได้สะท้อนถึงโครงการเสริมสร้างพลังของคนรุ่นใหม่ฯ ไว้ว่า… มีขึ้นเพื่อจะพัฒนา “แพลตฟอร์มวางแผนทำการเกษตร” ช่วย “ลดความเสี่ยง-เพิ่มโอกาส” ให้ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ โดยพัฒนาจากสิ่งที่ค้นพบจากการทำงานภายใต้ทุน SIP 4.0 ปีแรก คือ “โครงการการศึกษาแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก สังคมและสิ่งแวดล้อม : กรณีศึกษาโครงการคนกล้าคืนถิ่น เกษตรกรรุ่นใหม่ และทายาทเกษตรกรมืออาชีพ” ที่พบว่าผู้อบรม “คนกล้าคืนถิ่น” กว่า 60% นอกจากสามารถเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่อยู่รอดได้แล้ว ก็ยัง…

สามารถที่จะเป็น “Change Agent”…

“สร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่” ได้ 

ดังนั้น โครงการปีนี้จึงเป็นการออกแบบเครื่องมือในการจัดกิจกรรม “ขยายเครือข่ายของ Change Agent” พร้อมไปกับการสร้างเครื่องมือเพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยตลอด 1 ปีของการดำเนินโครงการคณะทำงานได้สร้างเครื่องมือต่อยอดขยายผลของคนที่กลับไปในถิ่นฐานตัวเอง เครื่องมือขับเคลื่อนและสร้างแรงบันดาลใจกับผู้สนใจในระดับพื้นที่ รวม 2 ชุด คือ แพลตฟอร์มการสร้างทีมกระบวนการ ออกแบบและจัดกระบวนการทำงานให้ Change Agent สร้างการขยายผล หรือ “แตกตัว” ในพื้นที่ตนเอง และ แพลตฟอร์มการออกแบบและบริหารพื้นที่ หรือ Get Start and Farm Planning สร้างความเข้มแข็งและเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเกษตรอย่างเหมาะสม ภายใต้ชื่อ “กล้าดี”

“กล้าดี จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เข้าใจว่า การเป็นผู้ประกอบการภาคเกษตรที่ประสบความสำเร็จจะต้องวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business strategy) เป็น ซึ่งนอกจากรู้ว่าตัวเองผลิตอะไรได้ดีแล้ว ยังต้องรู้ว่าผลิตภัณฑ์อะไรขายได้ราคา เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงมีพื้นฐานการสร้างแบรนด์และการตลาด เพื่อสามารถสื่อสารผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ” …นี่เป็นอีกส่วนจากที่มีการสะท้อนผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์”

และรวมถึง… สิ่งต่าง ๆ ที่ได้จากโครงการนี้จะเป็นคำตอบที่สำคัญของการ “ปฏิวัติวงการเกษตรกรรมไทย”  ซึ่ง… “หากโครงการนี้ได้รับการนำไปขยายผลในเชิงปฏิบัติ มีการสนับสนุนการสร้าง Chang Agent พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแตกตัวของผู้ผ่านการอบรมจาก Change Agent ในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เช่นเดียวกับกรณีของคุณจิราพร ก็จะสามารถไปสู่เป้าหมายนี้ได้อย่างแน่นอน” …ประธานมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศ ไทยระบุไว้

“คนคืนถิ่น” เพราะมีโควิด “คืนกันมาก”

ถ้าสามารถ “กล้า” เช่นที่ว่ามาได้ก็ “ดี”

“ดีกับผู้คืนถิ่น ชุมชน และประเทศ”.