รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ก่อนภาครัฐจะมีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ พบว่า ในเดือนมิ.ย. 64 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นหลังเริ่มมีการกระจายวัคซีน โดยภาคที่ไม่ใช่การผลิตทยอยฟื้นตัวได้บ้าง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค เช่น การขยายเวลาเปิด-ปิดร้านค้า และการนั่งรับประทานในร้านอาหารได้มากขึ้น

รวมทั้งได้ผลดีจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ เช่น ม33เรารักกัน เราชนะ ขณะที่ภาคการผลิตเริ่มได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนลตู้คอนเทนเนอร์ และขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ระดับการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ ประกอบด้วย ภาคการผลิตอยู่ที่ 78 จากเดือนก่อนอยู่ที่ 80.4 , การค้า อยู่ที่ 75.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 70.3, บริการ อยู่ที่ 73.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 72.3 ,ท่องเที่ยว อยู่ที่ 53.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 49.2 และอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง อยู่ที่ 78 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 69 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดิม โดยคาดว่าการฟื้นตัวจะล่าช้าออกไป จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย.ที่ยืดเยื้อ โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะสามารถกลับสู่ระดับเดิมตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 65 เป็นต้นไป จากเดิมที่คาดว่าจะกลับมาได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 65

สำหรับอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจยังไม่กลับไปสู่ระดับการโควิด-19 ปะกอบด้วย กำลังซื้อที่อ่อนแอ เที่ยวบิน การเดินเรือยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่เริ่มเห็นสัดส่วนของธุรกิจที่มีสภาพคล่องไม่เกิน 6 เดือนเพิ่มขึ้น จากการแพร่ระบาดที่กดดันรายได้ของธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิต ขณะที่วัตถุดิบคงคลังลดลง จากการขาดแคลนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตที่สำคัญ

ด้านการจ้างงาน พบว่า ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานค่อนข้างทรงตัวทั้งด้านจำนวนแรงงานและรายได้เฉลี่ย โดยธุรกิจในภาคการผลิตเริ่มมีการใช้นโยบายลดชั่วโมงทำงานเพิ่มเติมจากการสลับกันมาทำงาน หลังพบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน ขณะที่ธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตยังคงมีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน ซึ่งน้อยกว่าเดือนก่อน แต่เริ่มเห็นการปลดคนงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐมีการเร่งกระจายฉีดวัคซีนมากที่สุด รองลงมาคือ มาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุน เช่น การลดภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค และเงินส่งประกันสังคม สำหรับแผนการฉีดวัคซีนภายในองค์กร ภาคธุรกิจค่อนข้างมีการเตรียมพร้อม ซึ่งส่วนใหญ่มีแผนให้พนักงานฉีดวัคซีนตามสิทธิประกันสังคม หรือตามที่รัฐประกาศ