ยิ่งคุ้ยยิ่งผุดไม่ยอมหยุดยั้ง “เดลินิวส์” ตีแผ่ความจริงสู่สาธารณชน ตั้งแต่เริ่มเปิดโปงอควาเลียมหอยสังข์ จ.สงขลา อาคารร้างผู้ป่วยนอก รพ.สุราษฎร์ธานี และสนามกีฬาภาคตะวันออกพัทยา จ.ชลบุรี และคราวนี้ถึงคิวภาคเหนือ คืออาคารศูนย์ OTOP (โอทอป) กลางบึงทุ่งกะโล่ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ที่ใช้งบประมาณทางจังหวัด 35 ล้านบาท ทำการก่อสร้าง เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 5 หลัง พร้อมทางเดินเชื่อมต่อกันระหว่างอาคาร ถูกปล่อยทิ้งร้างมายาวนานเกือบ 20 ปี พื้นผิวในอาคารสกปรก วัสดุโดนขโมยไปหมดสิ้น ฝ้าเพดานพุพัง รอบอาคารต้นหญ้า เถาวัลย์ขึ้นปกคลุมราวกับบ้านผีสิง เบื้องต้นไม่เกี่ยวกับการทุจริต โดยสาเหตุที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เนื่องจาก ครม.ประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หน่วยงานท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการได้และ มีบริษัทวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ติดต่อขอเช่าสถานที่ 3 ปี เตรียมพัฒนาสร้างประโยชน์ให้สังคมและชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้คนในท้องถิ่นตามข่าวนั้น
ผุดอีก! ศูนย์โอทอปงบ 35 ล้าน ทิ้งร้าง 20 ปี วัยรุ่นมั่วสุมเสพยา-พระบุกรุก
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2564 บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีอุตรดิตถ์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทำเรื่องขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารศูนย์ OTOP จัดโครงการ “เมืองต้นไม้อุตรดิตถ์” เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชุมชนและสังคม และยกระดับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาการเกษตรสมัยใหม่และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ส่งเสริมให้เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรทั่วไปเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายกิ่งพันธุ์ไม้ พันธุ์ไม้ผล ไม้ดอก – ไม้ประดับ บริการด้านตกแต่งสวนหย่อม ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวพักผ่อน รวมทั้งสันทนาการ หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ปอดของชาวอุตรดิตถ์แห่งใหม่ โดยได้ติดต่อเช่าพื้นที่จากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือ ส.ป.ก.อุตรดิตถ์ ตามสัญญาเช่าพื้นที่ 17 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา กำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี เพื่อใช้ประกอบกิจการส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และเกษตรแปรรูป พร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือกับเทศบาลตำบลป่าเซ่า ขอเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของอาคาร
ทั้งนี้ ดร.นวรัตน์ ทรงเกียรติกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีอุตรดิตถ์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2564 บริษัทได้เข้าไปเช่าพื้นที่โดยรอบอาคาร เพื่อทำโครงการเมืองต้นไม้อุตรดิตถ์ ทางจังหวัดได้ขอให้บริษัทช่วยดูแลพื้นที่ตรงกลางและพื้นที่ปลูกสร้างอาคารเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่พร้อมอาคาร 5 หลัง เนื่องจากช่วงที่บริษัทเข้าไปดำเนินการตัวอาคารร้างและเป็นแหล่งมั่วสุม สภาพหลังคาทะลุลงมา มีการขีดเขียนฝาผนังไว้สกปรกเลอะเทอะ บริษัทเข้าไปบูรณะทำหลังคาใหม่ ทาสีเก็บบริเวณให้เรียบร้อย และได้ทำเอ็มโอยูกับเทศบาลป่าเซ่า ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ในปัจจุบัน โดยขออนุญาตปรับปรุงซ่อมแซมภายใน-ภายนอกอาคารบางส่วนที่จำเป็นให้เกิดความสวยงาม ปลอดภัย สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับประชาชนและเทศบาลตำบลป่าเซ่า บริษัทฯ จะรับผิดชอบดูแลความสะอาดและพัฒนาความสวยงามขึ้น และพยายามดูแลป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดกับอาคารและประชาชน ซึ่งทางเทศบาลตำบลป่าเซ่าก็อนุญาตให้บริษัทเข้าดำเนินการใช้ประโยชน์อาคาร OTOP และพื้นที่รอบบริเวณอาคารได้ตามวัตถุประสงค์ จนกว่าจะมีสมาชิกสภาเทศบาลและผู้บริหารชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่
“บริษัทเข้าไปปรับปรุง ต่อน้ำ ต่อไฟภายในอาคาร แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเกิดประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากโครงการเมืองต้นไม้อุตรดิตถ์จะต้องระดมทรัพยากรและกำลังคน ประกอบกับเผชิญวิกฤติแพร่ระบาดโควิด-19 และตลาดต้นไม้ก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่คนนิยมปลูกต้นไม้ตอนนี้ความนิยมลดลง ตลาดต้นไม้เริ่มซบเซา ทำให้โครงการนี้หยุดชะงักไปชั่วคราว แต่ก็ยังไม่ได้ถอดใจ คาดว่าประมาณปลายปีนี้บริษัทอาจจะพยายามฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เสียดายตัวอาคารที่สร้างไว้ค่อนข้างสวยงามอยู่แล้ว แต่สร้างมาเป็นระยะเวลายาวนาน ขาดการดูแลรักษา และไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเกือบ 20 ปี ทำตัวอาคารทรุดโทรมมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่เข้าไปในพื้นที่ได้ เราก็จะทำให้เต็มที่เท่าที่มีความสามารถในการดำเนินการ” ดร.นวรัตน์ กล่าว