ยูเอ็นดีพี ประกาศว่า ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ( เอชดีไอ ) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอายุคาดเฉลี่ย, ระดับการศึกษา และมาตรฐานการครองชีพของประเทศต่าง ๆ ลดลงติดต่อกัน 2 ปี คือในปี 2563 และปี 2564 ถือเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการจัดทำดัชนีดังกล่าว เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

แม้รายงานในหัวข้อ “เวลาที่ไม่แน่นอน ชีวิตที่ไม่มั่นคง” (Uncertain times, unsettled lives) บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการถอยหลังทั่วโลก แต่รายงานระบุเสริมว่า วิกฤติที่รวมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การเงิน และความเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ยังไม่ยอมให้ประชากรโลกมีเวลาฟื้นตัว

ตามข้อมูลของผลการศึกษา การถอยหลังเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างแท้จริง และมันส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกมากกว่า 90% โดยที่สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ อยู่ในอันดับต้น ส่วนซูดานใต้, สาธารณรัฐชาด และไนเจอร์ อยู่ตำแหน่งรั้งท้าย

ขณะที่บางประเทศเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติการระบาดใหญ่ แต่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา, แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา, เอเชียใต้ และทะเลแคริบเบียน ยังไม่ผ่านพ้นความยากลำบากก่อนที่วิกฤติใหม่จะเข้าปะทะ นั่นคือ “สงครามในยูเครน” ที่แม้ผลกระทบของการสู้รบในยูเครนจะยังไม่ได้ถูกนำมาคำนวณเข้ากับดัชนีของปีนี้ แต่แนวโน้มสำหรับปี 2565 นั้น เลวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย

อนึ่ง ปัจจัยสำคัญต่อการลดลงของเอชดีไอเมื่อไม่นานมานี้คือ อายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกที่ลดลง จากเดิมที่ 73 ปี ในปี 2562 เหลือ 71.4 ปี เมื่อปี 2564 ซึ่ง นายเพโดร คอนเซเซา ผู้เขียนนำของรายงาน อธิบายว่า การลดลงดังกล่าวเป็น “แรงกระแทกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” โดยระบุว่า บางประเทศ รวมถึงสหรัฐ มีอายุคาดเฉลี่ยลดลงถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้น

นอกจากนี้ รายงานยังบรรยายถึงพลังด้านการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ, โลกาภิวัตน์ และการแบ่งขั้วทางการเมือง ที่ทำให้มนุษยชาติเผชิญกับความไม่แน่นอนในระดับที่ซับซ้อน “อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์” ซึ่งนำไปสู่การรู้สึกถึงความไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานยังระบุถึงทิศทางในด้านบวกด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่าการปรับปรุงสามารถทำได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต, การประกันภัยเพื่อรับภาระแรงกระแทก และนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับวิกฤติในอนาคต

ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื้อหาของรายงานได้เรียกร้องให้มีการย้อนกลับความช่วยเหลือด้านการพัฒนา ต่อกลุ่มประเทศที่เปราะบางมากที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป มันจะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ อีกทั้งยังเป็นการประเมินผลกระทบที่มีต่อความสามารถในการทำงานร่วมกันในฐานะประชาชาติที่ต่ำเกินไปด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES