จิ้งหรีด” ถูกยกให้เป็น อาหารใหม่ (Novel Food) เป็น อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นสุดยอดของแหล่งอาหาร (Super food) ประเภทโปรตีน ส่งผลทำให้จิ้งหรีดเป็นที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย ราคาดี ตลาดมีความต้องการสูง ด้วยเหตุนี้จึงมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยหันมา “เพราะเลี้ยงจิ้งหรีดขาย” เป็นอาชีพ บางรายก็เลี้ยงขายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ควบคู่ไปกับอาชีพหลัก… ซึ่งวันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” นำข้อมูลมาให้พิจารณาเป็นกรณีศึกษา…

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ชุมชนบ้านเขานาใน ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เปิดตัวแอพพลิเคชั่น Tree Bank นวัตกรรมในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งการบันทึกข้อมูลต้นไม้ พิกัดต้นไม้ที่ปลูก วันที่ปลูก ความโต ความสูง สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลจำนวนต้นไม้ที่ปลูกในประเทศไทย การคำนวณมูลค่า และปริมาณกักเก็บคาร์บอนเครดิตผ่านโทรศัพท์มือถือ สร้างการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคดิจิทัล และยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างประโยชน์เพิ่มจากการใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ ภายในงานนั้นก็มีบูธของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดฟาร์มบ้านเขานาใน ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมโดยเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้มีการเลี้ยงจิ้งหรีดขายเป็นอาชีพเสริมรายได้ ซึ่งก็ได้ จุรีพร ลักษณะปิยะ เหรัญญิกของกลุ่มฯ และเป็นคนที่เริ่มนำการเลี้ยงจิ้งหรีดมาส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงขายเป็นอาชีพเสริม ซึ่งเป็นคนที่มาให้ความรู้การเลี้ยงจิ้งหรีดในครั้งนี้ โดยเจ้าตัวบอกว่า…อาชีพหลักของคนในชุมชน ส่วนใหญ่ก็มีอาชีพเป็นเกษตรกรทำสวนยางพารา และสวนปาล์ม ส่วนการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นทำเป็นอาชีพเสริม โดยเริ่มจากการที่ตัวเองเห็นหลานชายที่อยู่จังหวัดลพบุรีนั้นเลี้ยงจิ้งหรีดขายเป็นอาชีพเสริม จนกลายเป็นว่าการเลี้ยงขายนั้น สามารถสร้างรายได้ดีกว่าอาชีพหลัก ก็เลยเกิดความสนใจคิดว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจ อยากนำมาส่งเสริมให้คนในชุมชนเลี้ยงเป็นการสร้างรายได้เสริม ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มของหลาน ก็ได้ความรู้ในเรื่องของการเลี้ยงการดูแล และความเสี่ยงต่าง ๆ ในการเลี้ยง

หลังจากที่ได้เรียนรู้ศึกษาวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีด ก็ทดลองซื้อไข่จิ้งหรีดกลับมา เพื่อมาทดลองเลี้ยงที่บ้าน เริ่มจากการสร้างกรงเลี้ยง จำนวน 2 กรง เพื่อทดลองเลี้ยงก่อน ดูแลเลี้ยงอยู่ 2 เดือนก็จับขายได้ ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง มีเท่าไรก็ขายได้หมด จึงคิดว่าน่าจะเป็นอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ดี ก็เลยขยายทำกรงเลี้ยงเพิ่ม และก็เริ่มส่งเสริมให้คนในชุมชนเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้มาจนถึงปัจจุบัน ก็เลี้ยงจิ้งหรีดขายเป็นอาชีพเสริมมาได้ประมาณ 3-4 ปี แล้ว “เลี้ยงจิ้งหรีดขายสร้างรายได้เสริมประมาณ 14,000-15,000 บาทต่อเดือน“ จุรีพร กล่าว

ขั้นตอน “การเลี้ยงจิ้งหรีด” เริ่มจากทำบ่อสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีดก่อน โดยเริ่มจากทำโครงของกรงเลี้ยงขนาด ความกว้าง 120 เซนติเมตร ยาว 240 เซนติเมตร ขึ้นมา จากนั้นก็นำแผ่นซีเมนต์บอร์ดมาตีปิดส่วนพื้นและด้านข้างทั้ง 4 ด้าน เว้นด้านบนไว้ ซึ่งราคาในการสร้างกรงหรือบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อบ่อ

เมื่อทำกรงหรือบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดเสร็จแล้วก็นำแผงไข่ที่เป็นรังกระดาษวางเรียงลงในบ่อเลี้ยงให้เต็มพื้น จากนั้นก็ให้นำถาดพลาสติกวางบนแผงไข่ และก็นำไข่จิ้งหรีดเทใส่ลงบนแผ่นพลาสติก โดยใช้ไข่จิ้งหรีด 3 ขันต่อบ่อ เทไข่จิ้งหรีดลงบ่อเลี้ยงเสร็จแล้ว ก็ให้นำผ้าหนามาวางปิดไว้ เป็นการอบไข่ให้จิ้งหรีดฟักตัว ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-12 วัน จิ้งหรีดก็จะฟักเป็นตัว

“หลังจากที่จิ้งหรีดฟักเป็นตัว ก็นำใบมันสำปะหลังมาใส่ลงไปให้ทั่วบ่อ จะช่วยทำให้จิ้งหรีดโตไว หรืออาจใส่หยวกกล้วยสับลงไปด้วยก็ได้ เพื่อจิ้งหรีดจะดูดนํ้าจากหยวกกล้วย” จุรีพร กล่าว

การให้ “อาหาร” และ “นํ้า” พอจิ้งหรีดฟักเป็นตัวก็เริ่มให้อาหารสำเร็จรูปของจิ้งหรีดโดยเฉพาะได้เลย ซึ่งการให้อาหารจิ้งหรีดระยะนี้ก็จะให้ 1 ครั้งต่อวัน ส่วนการให้นํ้าก็วิธีการฉีดนํ้าให้เป็นละอองฝอยประมาณ 2 ครั้งต่อวัน (เช้า-เย็น)

“เลี้ยงไปได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จิ้งหรีดเริ่มโต ก็สังเกตดูว่าจิ้งหรีดในกรงเลี้ยงนั้น มีความหนาแน่นเกินไปหรือไม่ เพราะถ้าหากจิ้งหรีดแน่นเกินไป ก็จะทำให้จิ้งหรีดตายได้“ จุรีพร แนะนำ

หลังจากที่เลี้ยงหลัง 1 เดือนไปแล้ว จิ้งหรีดก็จะโตเต็มวัย ในช่วงนี้ก็ให้เพิ่มการให้อาหารเป็นวันละ 2 รอบ เช้าและเย็น การให้นํ้าก็ให้ปกติเช้า-เย็น โดยการเร่งอาหารให้เต็มที่นั้น เพื่อให้จิ้งหรีดที่เลี้ยงเป็นตัวเมียเกือบทั้งหมด จิ้งหรีดก็จะตัวใหญ่และมีไข่ไว้สำหรับใช้ขยายพันธุ์เลี้ยงรุ่นต่อไป เลี้ยงไปเกือบ 2 เดือน ก่อนจับขายก็ให้นำดินขุยมะพร้าวที่ใช้สำหรับปลูกต้นไม้ใส่ลงในถาด และนำไปวางในกรงเลี้ยงในช่วงเย็น เพื่อให้จิ้งหรีดมาวางไข่ลงในถาดที่มีดินขุยมะพร้าว พอช่วงเช้าก็มาเก็บใส่ถุงไว้สำหรับใช้เลี้ยงในรุ่นต่อไป โดยจิ้งหรีด 1 กรง สามารถรองไข่มาเลี้ยงรุ่นใหม่ได้ประมาณ 10 กรง

จิ้งหรีดวางไข่แล้วอีกประมาณ 5-7 วัน ก็จับขายได้ แต่ช่วงก่อนจับจิ้งหรีดขาย 2 วัน ให้หยุดให้อาหารสำเร็จรูป เพื่อไม่ให้จิ้งหรีดมีกลิ่นอาหาร แต่ให้ใส่ฟักทองสดหั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ลงไปในกรงให้จิ้งหรีดกิน เพื่อให้จิ้งหรีดมีสีสวย ส่วนการจับจิ้งหรีดขาย ก็ให้ทำการจับจิ้งหรีดใส่ถังที่มีนํ้า เพื่อเป็นการน็อกให้จิ้งหรีดตายก่อน จากนั้นก็นำไปทำการต้มให้สุกก่อนที่จะแพ็กใส่ถุง ถุงละ 1 กิโลกรัมส่งขาย

จิ้งหรีด 1 กรง จะได้จิ้งหรีดประมาณ 20 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 165 บาท

“กรงเลี้ยงนั้น เวลาเลี้ยงหมดรุ่นไปแล้วให้ทำการเก็บทำความสะอาด กวาดขี้จิ้งหรีดออกให้หมด จากนั้นก็ทำการฆ่าเชื้อโรค และเชื้อรา ด้วยการใช้ไฟเผา เสร็จแล้วก็ให้พักไว้ประมาณ 2 เดือนก่อน ค่อยนำจิ้งหรีดรุ่นใหม่มาลงเลี้ยง” จุรีพร แนะนำ

ใครสนใจ “จิ้งหรีด” ต้องการติดต่อ จุรีพร เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-3033-9964…ซึ่งการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ยาก เลี้ยงง่าย ราคาดี ตลาดยังมีความต้องการสูง สามารถทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมได้เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่ดีและน่าสนใจ.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน