รู้จัก “ท่าหลา” ไหม คำสั้น ๆ ตามสำเนียงคนใต้ที่ใช้เรียก “ท่าศาลา” อำเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ไม่เพียงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ พรั่งพร้อมไปด้วยอาหารการกินทั้งจากทะเลและภูเขา แต่ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และเมืองพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยมี “บ้านแหลม” ชุมชนขนาดเล็กริมทะเลเป็นส่วนหนึ่งของวิถีคนท่าหลา

วิถีชีวิตเรียบง่าย เป็นกันเองและอยู่อย่างพอเพียง เป็นวิถีที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ สู่คนรุ่นหลัง ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ผู้คนในชุมชนกว่าร้อยละ 90 นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพหลักคืออาชีพประมงขนาดเล็ก มีอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไปในพื้นที่เป็นอาชีพรอง มีการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมที่เพิ่มเติมเข้ามา เป็นรายได้เสริมที่ทำให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

บ้านแหลมมีที่พักโฮมสเตย์ไว้คอยบริการผู้มาเยือนที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน และสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด กลางวันไปทำ สปาโคลน โดยนั่งเรือออกไปเพียงไม่กี่นาที ก็จะถึงแหล่งโคลนธรรมชาติ จะลงเล่นน้ำโปะโคลน หรือจะนำโคลนมาพอกตัวบนเรือเลือกได้ตามความพอใจ ว่ากันว่าโคลนธรรมชาติแหล่งนี้ มีคุณสมบัติที่ดีต่อผิวไม่แพ้โคลนสปาจากต่างประเทศ และชม การทำประมง อย่างการวางอวนจับปู ปลา ลิ้มรสอาหารท้องถิ่น

ไปดูการปลูกหม่อนที่ บ้านสวนวัลลีย์ บ้านที่เจ้าของตั้งใจปลูกต้นหม่อนเพื่อนำผลผลิตมาจำหน่าย โดยจำหน่ายผลสดในตลาดท้องถิ่น นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมแปลงปลูกหม่อนที่มีผลผลิตจำนวนมาก ยามเช้ารีบตื่นไป ล่องเรือจิบกาแฟแลหวัน (ตะวัน)

นอกจากนี้ ยังมีการทำเครื่องแกงจากกลุ่มทำเครื่องแกงบ้านแหลม การทอผลิตภัณฑ์จากหางอวนของกลุ่มทอหางอวนบ้านบางตง ที่หาดูได้ยาก และถือเป็นชุมชนที่มีการผลิตมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ช่วงเวลาที่สามารถล่องเรือ ชมพระอาทิตย์ขึ้น และพอกโคลนทะเลนั้น ทำได้เกือบตลอดทั้งปีตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน จะมีเว้นช่วงมรสุมในเดือนธันวาคมที่จะเปลี่ยนมาเป็นการพายเรือในป่าชายเลน ชมวิถีชาวประมง นำอวนดักปลาป่าชายเลน และหาอาหารในป่าชายเลนแทน

นอกจากวิถีชีวิตชาวประมงแห่งท่าศาลาแล้ว ที่นี่ยังมีจุดเช็กอินอย่างสตรีทอาร์ตด้วย ที่ถนนศรีท่าศาลา ผลงานของศิลปิน 3 คน เจมส์-นิ่ม แห่งบ้านสีดิน พรหมคีรี และ เชิด ศรีธรรมราช ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของผู้คนในท่าศาลา อาทิ ปูม้า หนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจของท่าศาลา เรือสำเภา แทนความเป็นเมืองท่าเก่า ที่เรือสำเภาจากจีน มักมาแวะค้าขาย น้องไข่แลน ตัวการ์ตูนที่มาจากชื่อเรียกแทนเด็กผู้ชายในภาคใต้

นกกรงหัวจุก หรือ นกปรอดหางแดง นกที่คนใต้นิยมเลี้ยงฟังเสียงขันยามเช้าเรียกหาคู่ ชาวท่าศาลาเกือบทุกบ้านจะต้องมีกรงนกหัวจุกแขวนหน้าบ้าน ขณะที่ โกโก้ มีแหล่งปลูกอยู่ในพื้นที่ท่าศาลาและเป็นสวนโกโก้แห่งแรกในนครศรีธรรมราชด้วย ส่วน น้องควายบนผืนนา บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ในสมัยก่อน ปลากุเลา และ ปลาจวด สัตว์เศรษฐกิจของอ่าวไทย อีกความอุดมสมบูรณ์ของทะเลท่าศาลา ลวดลายที่ปรากฏบนตัวปลา มีการสอดแทรกลายลูกปัดมโนราห์ที่เป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวใต้ด้วย ปลาหมึกวาย หรือปลาหมึกยักษ์ กับม้าน้ำ อีกความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลท่าศาลา สุดท้ายคือ ภาพกราฟิตี้ ที่ถนนธุรการ ผลงานของ ป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล และ หนุ่ม คนท่าศาลา ศิลปินผู้รักบ้านเกิด

หรือจะออกไปฟินกับสายน้ำที่อุทยานแห่งชาติเขานัน ที่นี่มีน้ำตกขนาดเล็กอย่าง “น้ำตกสุนันทา” หน้าผาสีดำตัดกับสายน้ำใสที่ไหลลงมาจากหน้าผาที่มีความชันประมาณ 90 องศา ความสูงประมาณ 75 เมตร ลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างและไหลลงสู่ลำคลองกลาย ลำน้ำสายสำคัญในเขตอำเภอท่าศาลา ช่วงฤดูน้ำหลากมีกิจกรรมล่องแพด้วย

แลนด์มาร์คอีกแห่งของท่าศาลา ที่เพิ่งเปิดไม่นานคือ “หอชมฟ้า” (Bota Sky Tower) ในพื้นที่ของอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติและชมวิวยอดเขาหลวงบนสะพานแขวนเหนือยอดไม้ โดยได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากต้นกุหลาบหิน ที่มีกลีบใบซ้อนเรียงลดหลั่นกันอย่างสวยงาม เป็นระเบียบ รูปทรงหอชมฟ้าแปดเหลี่ยมออกแบบให้มีขั้นบันไดวน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่รู้สึกเมื่อยล้าระหว่างการเดินขึ้น เพราะมีจุดพักระหว่างทางเดินแต่ละช่วง

หอชมฟ้ามีความสูง 25 เมตร เทียบเท่าตึก 8 ชั้น และมีบันไดทั้งหมด 145 ขั้น ทิศตะวันออกสามารถมองเห็นกลุ่มอาคารและทัศนียภาพทั้งหมดของ ม.วลัยลักษณ์ รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และพื้นที่โดยรอบของอุทยานพฤกษศาสตร์ ส่วนทางทิศตะวันตก สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ที่ทอดยาวเป็นแนวสูงตระหง่านท่ามกลางธรรมชาติและผืนฟ้าได้อย่างชัดเจน ก่อนออกจากท่าศาลาอย่าลืมไปขอพร “ตาพรานบุญ” วัดยางใหญ่ วัดพี่วัดน้องกับวัดเจดีย์ ไอ้ไข่

ขยับไปที่อำเภอขนอม ที่นั่นมี “เขาหินพับผ้า” ผาหินรูปร่างแปลกตากลางทะเลขนอม ไม่ไกลจากแหลมประทับ และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง เช่น เกาะท่าไร่ เกาะนุ้ยนอก เขาหลักซอ และชายฝั่งอ่าวเตล็ด ชั้นหินที่ดูเหมือนเรียงซ้อนกันนั้น เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาซึ่งเกิดจากการตกตะกอนในท้องทะเลกลายเป็นชั้นหิน เมื่อเปลือกโลกเปลี่ยนแปลงเกิดการกัดกร่อน เผยให้เห็นหินเป็นชั้น ๆ เหมือนกับผ้าพับซ้อนกัน เป็นที่มาของชื่อ บ้างก็เรียก แพนเค้กร็อก (Pancake Rock) มีอายุประมาณ 260 ล้านปี พบอยู่ 2 แห่งคือบริเวณอ่าวขนอมประเทศไทย และทางเกาะใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศนิวซีแลนด์ จุดไฮไลต์คือ เวทีพุ่มพวง ชาวบ้านตั้งชื่อตามลักษณะที่คล้ายกับเวที สมัยก่อนมักขึ้นไปนั่งพักและชวนกันร้องเพลงพุ่มพวง จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อ

ในช่วงเดือน 10 ตามจันทรคติ นครศรีธรรมราชมีการจัด “งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ” งานประเพณีเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองคอน ที่จะแสดงความกตัญญุตาต่อบรรพชน

นางพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช กล่าวว่า งานบุญสารทเดือนสิบเกิดขึ้นด้วยความเชื่อและเหตุผลในทำนองเดียวกับชาวอินเดีย ที่มีพิธี “เปตพลี” เป็นงานประเพณีที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธา เรียกได้ว่าเป็นงานคืนสู่เหย้า เพราะเป็นการรวมตัวของลูกหลานที่มีความกตัญญูรู้คุณ กลับบ้านมาทำบุญให้แก่บรรพชน แฝงไปด้วยธรรมะศรัทธาความเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

“การจัดงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบปีนี้ นับเป็นปีมหามงคลครบรอบ ๙๙ ปี งานบุญสารทเดือนสิบ กอปรกับอาคารที่ทำการ ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช ซึ่งเดิมเป็น “อาคารศรีธรรมราชสโมสร” ที่มีความเกี่ยวเนื่องด้วยประวัติการจัดสร้างอาคารด้วยผลกำไรจากการจัด “งานเทศกาลเดือนสิบ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีปฐมฤกษ์ในยุคแรกตั้งต้น ก่อสร้างเป็นเวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จ ต่อมาได้มีการบูรณะปรับปรุงจนได้รับพระราชทานรางวัล อาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2537 ของสมาคมสถาปนิกสยาม จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนภาคีเครือข่ายพันธมิตรท่องเที่ยว จัด “งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ประจำปี 2565” ระหว่างวันที่ 19-28 กันยายน 2565 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) และสนามหน้าเมือง สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช โทร. 0-7534-6515-6, Facebook : TAT : Nakhon Si Thammarat + Phatthalung, Line : @tatnst

รักข้ามภพ ‘๙๙ ปี บุญสารทเดือนสิบ’

ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรมย้อนยุค รักข้ามภพครบ ๙๙ ปี บุญสารทเดือนสิบ ณ อาคารสำนักงาน ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 21-25 .. 2565

– จำลองนำกิจกรรม ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๙ อาหารดลใจ ผนวก Story Telling มิติแห่งความเชื่อ “เปรตมีจริง”

– DIY ทำขนมอัตลักษณ์เดือนสิบ 5 อย่าง

– Photo Booth ย้อนยุค และการแต่งกายย้อนยุค/แต่งกายสมัยรัชกาลที่ 5

– บูธไปรษณีย์ไทยแจกโปสต์การ์ดติดแสตมป์พิเศษ ให้ส่งถึงตนเอง/ผู้รับทางตูไปรษณีย์ภายใน

– Light Up ตกแต่งสถานที่จัดงานจำลองการจัดงานแบบสไตล์ย้อนยุค

– ศาลหลักเมืองและหอพระสูง เปิดให้เข้าชมทั้งกลางวันและกลางคืน

– โซนอาหารถิ่นย้อนยุคยกระดับด้วยการประยุกต์ Catering Style นำเสนออาหารถิ่น เมนูเด็ดของเมืองนคร ย้อนเมนูขนมโบราณที่หาทานได้ยาก

– โซนย้อนวันวานกับการละเล่นย้อนยุค รำวงเวียนครก, จำลองการปีนเสาน้ำมัน, การสาธิตและจำหน่ายเครื่องถมนคร, ย่านลิเภา