หากใครเป็นสาวกรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง อาทิ รถกระบะทั่วๆไป ก็คงรู้จักเจ้า “ฟรีปั๊ม” กันอยู่บ้างแต่เชื่อว่าหลายๆท่านคงจะสับสนหน้าที่การทำงานของเจ้า “ฟรีปั๊ม” กันอยู่บ้าง “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำทุกท่านมารู้จักเจ้า“ฟรีปั๊ม”กัน

“ฟรีปั๊ม” มีชื่อจริงว่า “พัดลมฟรีคลัตช์” คือพัดลมขนาดใหญ่ นิยมติดตั้งมาจากผู้ผลิตรถยนต์อย่างแพร่หลายในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง ทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน โดย “ฟรีปั๊ม” ที่มีใบพัดลมประกอบอยู่ด้วยจะทำหน้าที่ดูดอากาศให้ไหลผ่านหม้อน้ำเพื่อระบายและรักษาระดับความร้อนของเครื่องยนต์ให้เหมาะสม

การทำงาน ภายในตัว “ฟรีปั๊ม” จะมีน้ำยา(ซิลิโคน)ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือเมื่อรับเอาอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะมีความหนืดเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อติดเครื่องยนต์ใหม่ๆ ตัว “ฟรีปั๊ม” จะยังมีความหนืดที่ไม่มาก ส่งผลให้พัดลมยังไม่แรงนัก แต่เมื่อความร้อนเพิ่มสูงขึ้น น้ำยาภายในก็จะหนืดขึ้นความฟรีน้อยลงส่งผลให้พัดลมก็จะแรงขึ้นเพื่อให้สามรถระบายความร้อนจากหม้อน้ำได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ

เมื่อเราใช้งานรถยนต์มาเป็นเวลานาน เกิน 1 แสนกิโลเมตร แล้วเกิดปัญหาความร้อนเพิ่มสูงขึ้นตรวจสอบหม้อน้ำและระบบหล่อเย็นหากยังปกติดี “ฟรีปั๊ม”ก็หนีไม่พ้นต้องตกเป็นจำเลย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากน้ำยาภายในรั่วซึมหรือ เสื่อมสภาพ ส่งผลให้มีความหนืดไม่มากพอ จนไม่สามารถระบายความร้อนจากหม้อน้ำได้ทัน แต่อาการดังกล่าวจะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้มีเวลาเตรียมตัวนำรถเข้าซ่อม

เทคนิคควรรู้
-วิธีตรวจสอบ “ฟรีปั๊ม” ดับเครื่องยนต์แล้วใช้มือจับใบพัดลมขยับดู หากไม่รู้สึกหนืดหรือหนืดเพียงเล็กน้อยนั้นเป็นลางบอกเหตุให้รู้ว่าถึงเวลาต้องดูแล “ฟรีปั๊ม” กันแล้ว

-วิธีซ่อม หากไม่มีการรั่วซึม ช่างจะทำการผ่า “ฟรีปั๊ม” ออกแล้วเติมน้ำยาเข้าไปใหม่ แต่หากซีลรั่ว-ลูกปืนแตก-หรือไม่สามารถผ่าเติมน้ำยาได้ ก็ต้องเปลี่ยน “ฟรีปั๊ม”ใหม่ครับ

-การเติมน้ำยา “ฟรีปั๊ม” ส่วนใหญ่ในร้านอะไหล่บ้านเรา มักมีน้ำยาอยู่ 2 เบอร์คือ10000Cst และเบอร์ 30000Cst ทั้งนี้หากนำยาพร่อง ให้ใช้เบอร์10000Cst เติมลงไป1ขวด แต่หากเป็นเบอร์ 30000Cst ซึ่งมีความหนืดสูงกว่าไม่ควรเติมเกินครึ่งขวด กรณี เอาน้ำยาเก่าออกจนหมด เติมเบอร์10000Cst หลอดครึ่งถึง2หลอด แต่ถ้าเป็นเบอร์ 30000Cst ให้เติมไม่เกิน 1 ขวด

-หากเติมมากเกินไป ในยามขับขี่ที่รอบสูง ๆ เสียงพัดลมจะดังเข้าห้องโดยจนน่ารำคาญ และยังอาจทำให้ซีล “ฟรีปั๊ม” แตกในที่สุด…

…………………………….
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ 
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]