นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และธุรกิจของกลุ่มสตรีได้เข้ามาทำธุรกิจจำนวนมากขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ปี 62 ประเทศไทยมีเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย สัดส่วน 99.53% ของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่า เป็นผู้ประกอบการสตรีเป็นส่วนใหญ่ จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการสำรวจของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค)  

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการกลุ่มสตรีพบว่า มีไม่ถึง 35% ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และไม่สามารถเข้าถึงการค้าระดับโลกได้ ที่สำคัญพบว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอีกด้วย โดยจากผลการสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในปี 63 พบว่าเอสเอ็มอีกว่า 75% ต้องหยุดกิจการลง ทั้งจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเงินทุนและผลประกอบการ ขณะที่รายงานจากองค์การอ็อกแฟมระบุว่า ธุรกิจของกลุ่มสตรีทั่วโลกต้องสูญเสียรายได้มากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการดังกล่าว โดยได้เตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 65 ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการ และแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการสตรีให้มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ