ประชาชน นักเรียน นักศึกษาภายใต้ชื่อกลุ่ม “ราษฎร 63” ออกมาเคลื่อนไหวกันหลายเดือนแล้ว เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ไม่เอาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลากตั้ง 250 คน เพราะไม่เช่นนั้นคงมองไม่เห็นอนาคตประเทศ

แต่ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. พยายามหา “มุก” ใหม่ ๆ ออกมาเล่นถ่วงเวลา เช่นกรณีวันที่ 24 ก.ย. 63 มีการหักดิบกันในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ด้วยมีมติ 432 ต่อ 255 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ โดยใช้เวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจึงให้เสนอเข้าสู่การพิจารณาใหม่ แต่งานนี้ฝ่ายค้านไม่ขอร่วมสังฆกรรม

แต่ม็อบราษฎร 63 ที่ไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธากันแล้ว จึงเดินหน้าเต็มที่เพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก จึงหันไปหามุกใหม่ ด้วยการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เอาปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์มาขอคำแนะนำจาก ส.ส.-ส.ว.

แต่เปล่าเลย เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ยังมาสไตล์เดิมคือโจมตีฝ่ายค้าน แล้วก็ทวงบุญคุณไปถึงเหตุวุ่นวายทางการเมืองเมื่อปี 56-57 จนต้องออกมาทำรัฐประหาร

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมลดราวาศอก ม็อบราษฎร 63 ก็ไม่ยอมถอยเหมือนกัน ด้วยการชุมนุมขับไล่นายกฯ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ไม่รู้ว่าใคร? ไปช่วยคิดมุกให้สถาบันพระปกเกล้าเสนอทางออกตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” โดยให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นโต้โผวางแผนไปหารือเชื้อเชิญอดีตนายกฯ มาเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์

แต่นายชวนยังไม่ทันจะไปคุยหารือกับใครเลย! ก็มี 2 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐออกมาแซะ แขวะว่าเป็นพวกยาหมดอายุ เหมือนไม่ให้ราคานายชวน จนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ลูกหาบของนายชวนต้องออกมาด่ากลับไปบ้าง

“พยัคฆ์น้อย” เชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์คงไม่ได้เกิด! เนื่องจากทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์หันไปเล่นมุกใหม่ให้ ส.ว.ลากตั้งและ ส.ส.พลังประชารัฐ ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเตะถ่วงซื้อเวลาออกไปอีก

พูดง่าย ๆ ถ่วงเวลากันจนหมดมุกแล้ว ก็ใช้ “แทคติก” มาตรา 210 (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญปี 60 โดยการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โยนให้ศาลรัฐธรรมนูญแบกรับปัญหาไป ซึ่งคนไทยก็พอจะทำนายได้ว่าผลจะออกมาเช่นไร!

“พยัคฆ์น้อย” ขอสะกิดให้ พล.อ.ประยุทธ์และ ส.ว.ลากตั้ง มองย้อนกลับไปเดือน ก.พ. 34 มีการทำรัฐประหาร แล้วมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดือน ธ.ค. 34 มีสาระสำคัญช่วงหนึ่งว่าคนไทยมีรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และธรรมนูญการปกครองประเทศอีกหลายฉบับ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวการณ์บ้านเมืองที่ผันแปรเปลี่ยน แปลงไปตามยุคสมัย

รัฐธรรมนูญปี 34 ประกาศใช้ได้ไม่กี่เดือน ก็มีเหตุนองเลือด “พฤษภาทมิฬ” ปี 35 จนต่อมาต้องมีรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ในเดือน ก.ย. 39

รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) เมื่อเดือน ก.ย. 39

นี่แหละ! เป็นที่มาของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 40 รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง

แต่รัฐธรรมนูญปี 60 มีเรื่องไม่ชอบมาพากลมากมาย กฎ กติกาต่าง ๆ ไม่แฟร์กับคนอื่น แต่งตั้งน้องชาย-คู่เขยเป็น ส.ว. เพื่อไว้เลือกตัวเองเป็นนายกฯ มีปัญหาบัตรเขย่ง ส.ส. ปัดเศษ ส.ส. 1,700 แม้แต่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยังตอบเด็กไม่ได้ว่าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับที่เท่าไหร่

ดังนั้น จึงต้องย้ำกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ ตามความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์มีความจริงใจ! อุปสรรคขวากหนามจะเป็นเรื่องเล็กทันที เพราะมีแนวทางปี 34-39-40 อยู่แล้ว!

แต่ที่ผ่านมาต้องบอกกันตามตรงว่า พล.อ.ประยุทธ์แสดง ออกถึงความ “ไม่จริงใจ” แบบซ้ำซาก!!.

พยัคฆ์น้อย