สำหรับเรื่อง กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น มีข่าวออกมาเป็นระยะ เมื่อไม่กี่ปีก่อนก็มีข่าวว่า ต้องลดจำนวนผู้กู้ได้ เนื่องจากว่า ผู้กู้เดิมไม่ส่งต้น ไม่ส่งดอก (ที่จะเป็นรายได้ให้กองทุนมีเงินเพิ่มขึ้น) นำมาสู่มาตรการเด็ดขาดใน การหักเงินเดือนใช้หนี้ กยศ. ก็มีบ่นมีโวยวายกันบ้าง ..เรื่องเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก็สำคัญ ซึ่งถ้าไทยเราเก็บภาษีได้มากพอ นักการเมือง ข้าราชการไม่โกงกิน เราคงให้เรียนฟรีถึงปริญญาตรีได้  ..แต่นี่ประเทศไทย ฐานภาษีแคบ คนรวยคนจนก็เหอะ หาช่องว่างในการหลีกหนีภาษีกันสุดฤทธิ์ แต่พอจะเรียกร้องอะไรอ้างภาษีกูๆๆๆๆ  

เงินมันไม่พอในระบบ จะทำเรียนฟรีจบปริญญาตรี ก็เลยต้องใช้วิธีกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ พอกู้ได้ หลายคนฉลาดแกมโกง ก็เขียนหลักกลและเหตุผลาญในการกู้ ว่ากันว่า ช่วงไหนเงิน กยศ.ออก (ในส่วนค่าครองชีพ) เราได้เห็นเยาวชนลูกหนี้ กยศ. ในที่เที่ยว ที่อโคจรง่ายๆ (ส่วนค่าเทอมโอนเข้ามหาวิทยาลัย)  .. หลายคน พอกหนี้ต้นทบดอก ดอกทบต้นให้มั่วไปหมด จนกลายเป็นว่าพอถึงเวลาถูกยึดทรัพย์ ก็ไม่รู้จะสมน้ำหน้าหรือจะเห็นใจ เพราะที่ถูกยึดทรัพย์บางรายก็มีรายได้ แต่ไม่อยากจ่ายเลยเหนียวหนี้ ก็ไม่รู้ว่า “หวังน้ำบ่อหน้า” ประเภทคิดว่าถึงจุดหนึ่ง รัฐบาลต้องเห็นใจประชาชนแล้วออกกฎหมายยกหนี้ให้หรือเปล่า แต่เมื่อเป็นคำว่า “หนี้” มันไม่ใช่ทุนให้เปล่า ก็ต้องคืน

หลายๆ คนน่าชื่นชมที่มีวินัยในการยืมแล้วก็ทยอยคืน แม้เงินเดือนน้อยก็เจียดมาคืน ไม่รอให้ต้นมันทบดอกยาว ซึ่งตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่คือมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นแกนหลักในการดำเนินการ มีการไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ. บางรายการ  ..ทั้งนี้ จากข้อมูลของสื่อที่ทำ big DATA คือ Rocket Media Lab อธิบายเรื่อง กยศ. ว่า  ขณะนี้รัฐบาล อยู่ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่าง ไปเมื่อเดือน ม.ค. 2565 โดยสาระสำคัญของร่างฯ นี้คือ “ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี จากกฎหมายฉบับปัจจุบันที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี

พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงิน ทั้งลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ที่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี สามารถยื่นเรื่องขอผ่อนผัน การชำระเงินคืนกองทุน ขอลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด” ซึ่งขณะนี้มาตราที่โหวตผ่านแล้วคือ มาตราที่ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระที่ต้องจ่ายหนี้แทนให้ และจะพิจารณาต่ออีกครั้งในส่วนมาตรา 17 (แก้ไขมาตรา 44 เดิม) ที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยในวันที่ 14 ก.ย.

Rocket media lab เล่าถึงที่มา กยศ. ว่า จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. วันที่ 28 มี.ค.38 เริ่มต้นจากการได้รับงบประมาณแผ่นดิน 3 พันล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้กับเด็กที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ก่อนจะเปลี่ยนสถานะจากหน่วยงานส่วนราชการ เป็นนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ รมว.คลัง ในปี 2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการดำเนินการของกองทุน ให้สอดคล้องกับนโยบายผลิตกำลังคนและพัฒนาประเทศมากขึ้น   

เดิมประเทศไทยเองก็เคยมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ใช้แนวคิดแบบชำระหนี้ตามรายได้ (ICL) คล้ายกับอีกหลายประเทศ ในชื่อ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี 7 เม.ย. 47 แต่ กรอ. จะค่อนข้างจำกัดสิทธิกว่า สุดท้าย กรอ. ถูกควบรวมกับ กยศ.

การกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นสวัสดิการในหลายประเทศ เมื่อเรามาดูเรื่องการจ่ายคืนเงินกู้เพื่อการศึกษา แบ่งตามการจ่ายคืนได้ 2 แบบคือ แบบกำหนดระยะเวลาในการจ่ายคืน (time-based repayment loans: TRBL) ประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น ไทย มาเลเซีย เยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และ แบบจ่ายคืนตามอัตรารายได้ของผู้กู้ ให้จ่ายคืนเมื่อมีรายได้ก่อนหักภาษีถึงเกณฑ์ (income contingent loans: ICL) ประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น เกาหลีใต้ แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ซึ่งเรื่องอัตราเงินเฟ้อกับดอกเบี้ย ก็กลายเป็นปัญหาในการจ่ายคืนในบางประเทศ

ประเทศส่วนมากมักจะกำหนดเงื่อนไขของผู้กู้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาทั้ง แบบเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี นิวซีแลนด์ แคนาดา ในขณะที่ก็มี บางประเทศที่กำหนดให้กู้ยืมเฉพาะนักเรียนที่เรียนเต็มเวลาเท่านั้น เช่น ออสเตรเลีย ในส่วนความครอบคลุมของเงินกู้ ว่ากู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียน หรือรวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัวด้วย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา หรือมาเลเซีย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัวด้วย ในขณะที่ออสเตรเลียให้กู้ยืมได้เพียงแค่ค่าเล่าเรียนเท่านั้น 

เวลาในการชำระหนี้ก็จะแตกต่างกันไป เช่น สหราชอาณาจักร ให้ใช้หนี้นานถึง 30 ปี ในขณะที่ นิวซีแลนด์และไทย มีกำหนดระยะเวลาในการใช้หนี้อยู่ที่ 15 ปี ส่วน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี อยู่ที่ 10 ปี การผ่อนจ่ายมักจะเป็นรายเดือน เช่นที่ แคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และมาเลเซีย ในขณะที่สวีเดนจะใช้การผ่อนชำระ 4 ครั้งต่อปี นิวซีแลนด์เป็นรายปี ไทยเป็นรายปี หรือเลือกหักจากเงินเดือนได้ และเกาหลีใต้เลือกได้ว่าจะผ่อนแบบรายปีหรือสองเดือนครั้ง

สำหรับ กยศ. นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เคยให้ข้อมูลว่า กองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระหนี้คืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียนนักศึกษารุ่นต่อไปได้กู้ยืมโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2561 ปี 2565 กยศ. ได้เปิดระบบการกู้ยืมเป็นงบประมาณให้กู้ยืมจำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักศึกษากว่า 600,000 ราย โดยเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2565 มีผู้ยื่นกู้แล้ว 590,796 ราย รวมเป็นเงินให้กู้กว่า 27,881 ล้านบาท 

จากข้อมูลของ กยศ. พบว่า กองทุนปล่อยกู้กับผู้กู้ยืมเพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา แล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้กว่า 696,802 ล้านบาท แต่ยังคงมี ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย คิดเป็นร้อยละ 56  ของผู้กู้ยืมทั้งหมดเป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท ในขณะที่มี ผู้ชำระหนี้เสร็จสิ้นและ 1,633,702 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 ของผู้กู้ยืมทั้งหมด …ซึ่งประเทศไทยหาทางช่วยให้เข้าถึง กยศ. มากขึ้น เช่น ช่วงโควิด-19 ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันในการทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 แต่ก็ยังมีปัญหาอื่น เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่มีอัตราสูง รวมไปถึงการขอผ่อนผันการชำระหนี้ในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการชำระหนี้คืน พบว่าตั้งแต่ปี 2539-2563 มี ผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดี 1,243,023 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.33 ของผู้กู้ยืมทั้งหมดในช่วงนั้น (5,828,391 ราย)

ทั้งนี้ ก็มีความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการยกหนี้ กยศ. ในโซเชียลมีเดีย วันที่ 16 ส.ค. 2565 ทางศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการผุดแคมเปญ #ล้างหนี้กยศ ขึ้น เชิญชวนประชาชนที่สนใจร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ใน มาตราที่ 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 “ให้ผู้ทำการกู้ที่สำเร็จการศึกษาเกินสองปีและยังคงมียอดกู้คงเหลือให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาลต่อไป” ซึ่งแคมเปญนี้ถูกนำมาผนวกกับแคมเปญเรียนฟรีทั่วหน้า เพราะถือว่า การให้การศึกษาต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้

ฟังดูก็เหมือนจะดี “การศึกษาต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้” แต่ย้อนกลับไปข้างต้น คือ ฐานภาษีเราเพียงพอหรือไม่ในการจัดรัฐสวัสดิการนี้ ..ให้กองทุนเก็บยอดหนี้จากรัฐบาล ก็ไม่รู้พวก “ภาษีกู” จะออกมาโวยวายบ้างไหมว่า ทำไมรัฐบาลต้องเอาเงินรัฐบาลไปใช้หนี้กองทุน กยศ. ให้พวกกู้มาสบายใจเฉิบๆ คือ อย่า romanticize ปัญหาว่าคนกู้ กยศ. ต้องจนทุกคน ลำบากยากแค้น บางคนมีช่องทาง หาหลักกลและเหตุผลาญได้ ก็เขียนกู้ .. พอมันเป็นเงินกู้ก็ควรต้องจ่าย ขนาดคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ยังบอกว่า กู้แล้วไม่จ่ายต่อไปจะเสียวินัยการเงินการคลัง

ไม่งั้นเดี๋ยวมีให้ ยกเลิกหนี้เกษตรกร, ยกเลิกหนี้ครู, เรียนแพทย์ไม่ต้องใช้ทุนกันบ้าง หรือพวกพนักงานเอกชนไม่สังกัดหน่วยงานรัฐไม่ยอม จะเอายกเลิกหนี้บ้าง ก็ออกแคมเปญยกเลิกหนี้ธนาคารและบัตรเครดิต หรือให้ลดดอกบัตรเครดิต ในเมื่อมันเป็น “เงินกู้” ก็ต้อง “ใช้หนี้” สามัญสำนึกง่ายๆ แค่นี้เอง จะอ้างจะอธิบายอะไรเยอะแยะ .. ถ้าจะยกเลิกหนี้ กยศ. ปล่อยเป็นสวัสดิการเรียนฟรี อันดับแรก หาเงินจากไหนก่อน? อย่าพูดเรื่องเก็บภาษี เพราะอย่างที่ว่าคือคนทุกระดับวางแผนให้จ่ายภาษีน้อยอยู่แล้ว พวกหัก ณ ที่จ่าย ก็หาทางขอคืน ไอ้คนละครึ่งเที่ยวนี้ ก็มีร้านออกจากโครงการหลายร้าน เพราะมันตรวจสอบภาษีจากการซื้อขายได้

อันดับสอง ถ้าจะจัดให้เรียนฟรี ถามว่า เพื่อความเสมอภาค นักเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องได้ทุกคนหรือไม่? และทุกสถาบันศึกษาไม่ว่าจะเก่าแก่เกรดสูง เอกชนไฮโซ หรือสถาบันเล็กๆ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนให้จัดเรียนฟรีอย่างเท่าเทียมกัน และต้องไม่เลือกด้วยนะ ว่าจะเรียนฟรีเฉพาะสาขาขาดแคลน (ช่วงนี้คงแห่ไปเรียนบัญชีกันเยอะ เห็น ส.ต.ท.กรศศิร์ บัวแย้ม ได้บรรจุราชการตำรวจ ได้ย้ายไป กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ด้วยข้ออ้างว่าสาขาบัญชีขาดแคลน)

เอาให้แฟร์ๆ ใครกู้แล้วก็ต้องจ่ายไป แล้วรีสตาร์ตคือนับหนึ่งใหม่สำหรับผู้กู้ใหม่ ด้วยกฎใหม่ ซึ่งย้ำว่าจะให้เรียนฟรีก็ต้องหาแหล่งเงินทุนมาให้ได้ ปรับภาษีอะไรก็ได้ เรายังเอา sin tax มาใช้ทำงานด้านรณรงค์สุขภาพ ทำช่องทีวีไทยพีบีเอส ก็อาจหาภาษีประเภทอื่นมาสนับสนุน พรรคที่เสนอชัดเจนคือพรรคพลังท้องถิ่นไท ของนายชัชวาลล์ คงอุดม ที่บอกเลยว่า “ให้รัฐบาลเปิด enterment complex แต่ละภูมิภาค และเอาเงินได้จากตรงนี้มาอุดหนุนการศึกษา” 

แล้วพรรคอื่นว่าอย่างไร คิดจะหาเงินจากไหนถ้าจะพูดว่ารัฐบาลควรจัดให้เรียนฟรี

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”