ระหว่างวันที่ 13-14 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนที่ผ่านถนนวิภาวดีรังสิต ต่างตื่นตาตื่นใจกับขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงจำนวน 6 ตู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ขึ้นทดสอบการเดินรถบนทางวิ่งยกระดับช่วงสถานีวัดเสมียนนารี ถึงสถานีดอนเมืองเป็นครั้งแรก ความหวังที่จะได้ใช้รถไฟฟ้าสายนี้ หลังจากรอคอยกันมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่โครงการโฮปเวลล์ถูกทิ้งร้างกำลังจะกลายเป็นความจริง

ผลการทดสอบเพื่อตรวจสอบตัวรถและชานชาลาของแต่ละสถานีเมื่อใช้งานร่วมกันปรากฏว่าผ่านฉลุย เมื่อรถไฟฟ้าวิ่งเข้าสถานีสามารถจอดได้ตรงกับพิกัดของชานชาลา โดยระยะห่างระหว่างตัวรถกับชานชาลาตรงตามที่ออกแบบไว้

สาเหตุที่ทดสอบช่วงสถานีวัดเสมียนนารี ถึงสถานีดอนเมือง รวม 6 สถานีเนื่องจากเป็นสถานีที่ปล่อยระบบไฟฟ้าได้แล้ว ยังไม่ได้วิ่งเต็มระบบ ประกอบด้วย สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะฯ และสถานีดอนเมือง ซึ่งเป็นสถานียกระดับทั้งหมด ใช้ความเร็วในการเดินรถเพียงแค่ 10 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) จากปกติจะใช้ความเร็วที่ประมาณ 120-140 กม.ต่อชม. ขึ้นอยู่กับระยะห่างของแต่ละสถานี แม้ว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงจะถูกออกแบบให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม.ต่อชม. แต่ในการเดินรถคงใช้ความเร็วไม่เกิน 140 กม.ต่อชม. เพื่อประหยัดพลังงาน

เบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาในการเดินทางไว้ ดังนี้ เส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ใช้เวลา 25 นาที ส่วนจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. ใช้เวลา 15นาที หากผู้โดยสารจะใช้ทั้ง 2 เส้นทางนี้ต่อกัน ต้องมาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกลางบางซื่อก่อน เช่น ผู้โดยสารที่อยู่รังสิต หากจะเดินทางไปตลิ่งชัน ต้องมาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกลางบางซื่อ แต่ไม่ต้องออกจากระบบ เหมือนกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีสยาม เป็นต้น

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรฟท. บอกว่า ขณะนี้รถไฟจากโรงงาน Kasado จ.ยามากุจิ ประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 25 ขบวนของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทยอยเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว 2 ลอต แบ่งเป็น ขบวน 6 ตู้ 3 ขบวน และขบวน 4 ตู้ 1 ขบวน ส่วนที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบภายในกลางปี 63 แบ่งเป็น ขบวน 6 ตู้ 12 ขบวน และขบวน 4 ตู้ 9 ขบวน

ขบวนรถที่ส่งมาจะเก็บไว้ที่ศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณสถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ แต่ละขบวนจะถูกตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ของรถไฟฟ้า และทดสอบระบบตัวรถแบบจอดอยู่กับที่ จากนั้นจึงทดสอบแบบเคลื่อนที่ ตรวจสอบระบบต่างๆ ขณะรถวิ่งต่อไป คาดว่าจะเริ่มทดสอบได้เต็มระบบประมาณกลางปี 63 ก่อนเปิดทดลองเดินรถเสมือนจริงประมาณไตรมาส 4 ปี 63 หรือเดือน ต.ค.63 ซึ่งในช่วงนี้ก็มีโอกาสที่จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองนั่งฟรีก่อนเปิดบริการอย่างเป็นทางการต้นปี 64

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ก่อสร้างเป็นทางยกระดับจากสถานีกลางบางซื่อ ไปถึงสถานีดอนเมือง แล้วลดระดับลงมาเป็นระดับพื้นดินเมื่อพ้นจากสถานีดอนเมือง ไปจนถึงสถานีรังสิต ประกอบด้วย 10 สถานีคือ 1. สถานีกลางบางซื่อ 2. สถานีจตุจักร 3. สถานีวัดเสมียนนารี 4. สถานีบางเขน 5. สถานีทุ่งสองห้อง 6. สถานีหลักสี่ 7. สถานีการเคหะ 8. สถานีดอนเมือง 9. สถานีหลักหก 10. สถานีรังสิต โดยอัตราค่าโดยสาร เบื้องต้นได้ทำการศึกษาอยู่ที่ 14-47 บาท

อนาคตจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) บริเวณสถานีหลักสี่ รวมทั้งมีโครงการส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินก่อสร้าง 6,570 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.62 อยู่ระหว่างจัดทำพระราชกฤษฎีเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างทางข้ามประมาณ 3 จุด คาดว่าจะประกาศเชิญชวนหาเอกชนมาก่อสร้างได้ในเร็วๆนี้คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 66

เมื่อเปิดบริการสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าในปี 64 ที่เปิดดำเนินการจะมีผู้โดยสาร 86,620 คน/วัน ปี 70 จำนวน 113,031 คน/วัน และปี 75 จำนวน 135,129 คน/วัน.

อีกไม่นาน การจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตจะคล่องตัวขึ้น ที่เคยติดหนึบ1-2ชม.เพราะรถส่วนตัวจากชานเมืองทะลักกันเข้ามาทำงานในเมือง ประชาชนมีทางเลือกให้นั่งรถไฟฟ้าใช้เวลาเดินทางแค่ครึ่งชม.
………………………….
คอลัมน์ : มุมคนเมือง
โดย “เทียนหยด”

Cr.ขอบคุณภาพประกอบรถไฟฟ้าวิ่งทดสอบบนทางยกระดับสวยๆจากทวิตเตอร์ @Mercury291 , www.checkraka.com