ปัญหาเรื่องฝนตกหนักและน้ำท่วมกลับมาสร้างความลำบากให้คนไทยอีกครั้งหลังจากว่างเว้นไปหลายปีและสำหรับท่านที่ต้องขับรถผ่านเส้นทางที่มีน้ำท่วมขังสิ่งหนึ่งควรต้องให้ความใส่ใจหลังจากขับรถลุยน้ำแล้วก็คือ การตรวจสภาพของระบบเบรก

สำหรับระบบเบรกของรถในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 2 แบบใหญ่ ๆ คือ “ดิสก์เบรก” กับ “ดรัมเบรก” ส่วนการติดตั้งระบบเบรกมีทั้งแบบหน้าดิสก์หลังดรัมและแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อแต่ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกแบบไหนก็ไม่ถูกโรคกับน้ำอยู่ดี เพราะน้ำเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ชิ้นส่วนของเบรกที่เป็นโลหะเกิดสนิม ทำให้ผ้าเบรกลื่น น้ำมันเบรกเกิดความชื้นอันนำมาซึ่งอาการเบรกลื่น เบรกติด เบรกไม่อยู่และเกิดอุบัติเหตุในที่สุด

ดังนั้นหลังจากต้องขับรถผ่านพื้นถนนที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะทางยาว ๆ สิ่งที่ควรทำเสมอหลังจากผ่านบริเวณน้ำท่วมขับมาแล้ว คือการเลียเบรกเพื่อไล่ความชื้นในผ้าเบรกออก เพราะว่าเวลาลุยน้ำนาน ๆ ผ้าเบรกจะดูดซับน้ำบางส่วนออกและผ้าเบรกที่ชุ่มน้ำนี้จะมีผลทำให้เบรกลื่นหรือมีประสิทธิภาพในเบรกลดลง

สำหรับวิธีการเลียเบรกเพื่อไล่ความชื้น ทำได้โดยการขับรถช้า ๆ แล้วใช้เท้าซ้ายแตะเบรกเบา ๆ ค้างเอาไว้เป็นระยะทางสัก 100 เมตรเพื่อให้ผ้าเบรกเสียดสีกับจานเบรกจนเกิดความร้อนเป็นการช่วยเร่งการระเหยของความชื้นออกจากผ้าเบรกทำให้ระบบเบรกกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ส่วนผู้ขับรถที่ต้องขับรถผ่านถนนเส้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่นานหลายวันเมื่อน้ำลดสู่สภาพปกติแล้วก็ควรจะต้องนำรถไปให้ช่างช่วยเช็ก ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของระบบเบรกโดยเฉพาะที่ล้อหลังต้องใส่ใจกันมากสักนิด เพราะไม่ว่าจะเป็นรถที่ใช้เบรกแบบหน้าดิสก์หลังดรัมหรือแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อแต่ภายในของเบรกหลังก็ยังมีชุดดรัมเบรกซ่อนอยู่โดยทำหน้าที่เป็นชุดเบรกของเบรกมือนั่นเอง และจากลักษณะของตัวจานเบรกแบบดรัมเบรกที่เหมือนขันน้ำนั้นก็ทำให้มีน้ำและสิ่งสกปรกต่าง ๆ เข้าไปขังอยู่ภายในจานเบรกและระบายออกได้ยาก ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดสนิมและผ้าเบรกลื่นอีกด้วย (จานเบรกของดิสก์เบรกจะมีลักษณะเป็นแผ่นจานกลม ๆ ที่เปิดโล่ง จึงสามารถจะสะบัดน้ำและสิ่งสกปรกออกได้ดีว่าดรัมเบรก)

น้ำมันเบรกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องเปลี่ยนทุกครั้งหลังการใช้งานช่วงน้ำท่วมเพราะโดยปกติแล้วน้ำมันเบรกก็จะดูดความชื้นเข้ามาปะปนได้ตามกาลเวลายิ่งมาขับรถลุยน้ำบ่อย ๆ และนาน ๆ ก็ยิ่งทำให้น้ำเข้าไปปะปนในน้ำมันเบรกได้ง่ายและเร็วขึ้น เมื่อน้ำมันเบรกมีความชื้นเพิ่มขึ้นก็จะนำไปสู่ผลเสียหลายประการ อาทิ ทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ในระบบไฮโดรลิกเบรกเป็นสนิมและเสียหายในที่สุด

นอกจากนี้ความชื้นในน้ำมันเบรกยังทำให้น้ำมันเบรกมีจุดเดือดต่ำลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้ามีการใช้งานระบบเบรกหนัก ๆ จนความร้อนของระบบเบรกเพิ่มขึ้นสูงมาก ๆ ความชื้นในน้ำมันเบรกก็จะระเหยตัวกลายเป็นไอทำให้เกิด “เวเปอร์ล็อก” หรือฟองอากาศขึ้นในท่อทางเดินน้ำมันเบรกที่ส่งผลทำให้ระบบไฮโดรลิก

เบรกไม่มีแรงดันน้ำมันเบรกเพื่อไปผลักดันกลไกลูกสูบให้บีบผ้าเบรกเสียดสีกับจานและทำการเบรก ผลก็คือเวลาเหยียบเบรกแล้วมีอาการเบรกหายหรือเบรกแตกนั่นเอง นับเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่อย่างมาก…